เชื้อไวรัส “Corona 229E” เป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์แรกที่ค้นพบในปี ค.ศ.1965 ทำให้เกิดอาการเหมือนโรคหวัด เล่นงานระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าส่วนล่าง ส่วนเชื้อไวรัส “โควิด-19”...เป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ 7 พบในปี ค.ศ.2019

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ บอกว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 55 ปี มาโรงพยาบาลด้วยเสียงแหบ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก ไอแห้งๆ มีไข้ต่ำๆเพียง 1 วัน ตาแดงทั้ง 2 ข้าง ตาไม่เจ็บ เจ็บหูทั้ง 2 ข้าง น้องชายเป็นหวัด 5 วันก่อน แยงจมูกส่งตรวจรหัสพันธุกรรม 22 สายพันธุ์

พบไวรัส Corona 229E รักษาตามอาการ หายเองใน 14 วัน... อีกรายผู้ป่วยชายอายุ 75 ปี มาโรงพยาบาลด้วยเสียงหาย ไม่เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก ตาแดงทั้ง 2 ข้าง ไม่เจ็บตา ไม่ไอ ไม่มีไข้ ลูกสาวเป็นหวัด 3 วันก่อน แยงจมูกส่งตรวจรหัสพันธุกรรม 22 สายพันธุ์ พบไวรัส Corona 229E รักษาตามอาการ หายเองใน 14 วัน

...

อาการเกิดจากไวรัสโคโรนา 229E ที่คล้ายกันคือ เสียงแหบ คัดจมูก มีน้ำมูก ตาแดง ไม่เจ็บตา อาการดีขึ้นใช้เวลา 2 สัปดาห์ ที่ต่างกันคือคนหนึ่งไอเล็กน้อย เจ็บคอ และเจ็บหู อีกคนไม่ไอ ไม่เจ็บคอ ไม่เจ็บหู

“หลังเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ผมได้ดูแลคนสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรค อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปมากที่สุดอายุ 99 ปี รอดจากการติดเชื้อไวรัสโควิดมาโดยตลอด”

เพิ่งมาติดโควิดครั้งแรก 6 คนจากคนในครอบครัว แต่เนื่องจากผู้สูงอายุที่ดูแลทุกคนได้รับวัคซีนมาแล้วคนละหลายเข็ม มาหาแพทย์เร็ว ให้นอนในโรงพยาบาลเพื่อรับยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ทางเส้นเลือดทันที

อยู่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เพียง 3 วันก็กลับบ้านได้ อาการไม่หนัก ไม่ต้องเข้าห้องไอซียู ไม่ต้องใส่ท่อหายใจเหมือนสมัยที่ยังไม่มีวัคซีนและไวรัสเป็นสายพันธุ์เดลตา

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

“ช่วงนี้มีข่าวด้อยค่าวัคซีน พูดกันมากในสื่อถึงผลข้างเคียงของวัคซีน ผมเป็นแพทย์ทำงานด่านหน้าดูแลคนไข้โควิดด้วยตัวเอง ในชีวิตจริงเห็นผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโควิดน้อยมาก เห็นประโยชน์ของวัคซีนในการลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตในคนสูงอายุกลุ่ม 608 มากกว่าโทษ”

แนะนำคนสูงอายุกลุ่ม 608 ทุกคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อไวรัสโควิดแม้แต่ครั้งเดียว ให้ไปรับวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นล่าสุด 1 เข็ม

British Medical Journal เผยแพร่สรุปแนวทางขององค์การอนามัยโลกในการลดความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อโรคโควิด-19...หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่าง ถ่ายเทอากาศ รักษาความสะอาดสิ่งของสถานที่และการปฏิบัติตัวเวลาป่วยอย่างถูกต้อง รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)”

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา รศ.นพ.ธีระสอนคลาส 30 คน มีคนที่มีอาการป่วยมาปรึกษา และตรวจพบ atk บวก 2 คน...คิดเป็น 6.7% นอกจากนี้สังเกตมีไอจามกันในคลาสอีก 2-3 คน แต่ยังไม่ได้ตรวจ

ดังนั้น “ความชุก” ของการ “ติดเชื้อ” ในปัจจุบันถือว่าไม่น้อยในชีวิตประจำวัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

“ตีคร่าวๆ...หนึ่งในสิบ การไปในที่ที่แออัด มีคนเยอะ ควรป้องกันตัวเสมอ ไม่ว่าจะทำงาน เรียน เที่ยว กินอาหาร ไปงานแต่ง ไปงานบวช ไปคอนเสิร์ต บันเทิง ฯลฯ และหากคนที่มีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อยถ้าใส่หน้ากากเสมอก็จะช่วยลดการแพร่ให้คนอื่นได้มากนะครับ”

...

พลิกแฟ้มข้อมูลวิเคราะห์การระบาดของไทย (12-18 พฤษภาคม 2567)...ติดกันเยอะต่อเนื่อง จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,882 ราย เสียชีวิต 16 ราย ปอดอักเสบ 679 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 281 ราย ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลมากกว่าสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย และขึ้นต่อเนื่อง 10 สัปดาห์ติดต่อกัน

จำนวนปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 15.5% ขึ้นต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ ถือว่าสูงสุดในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่ 10 กันยายน 2565...ใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้น 18.6% ขึ้นต่อเนื่อง 9 สัปดาห์ สูงสุดในรอบเกือบ 17 เดือน นับตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2565...เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 45.5% ขึ้นต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ สูงสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่ 8 กรกฎาคม 2566

....คาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่ต่อวันอย่างน้อย 13,443-18,671 ราย

หากเทียบกับสัปดาห์ก่อนสงกรานต์ สัปดาห์ล่าสุดนี้...ป่วยนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า ในขณะที่ปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 3 เท่า และเสียชีวิตมากขึ้น 5.3 เท่า

ปัจจุบัน “โควิด-19” ระบาดมากจริงๆ ดังที่เราเห็นกันรอบตัว “เปิดเทอม”...มีโอกาสมากขึ้นไปอีก ทั้งคนทำงาน นักเรียน นิสิตนักศึกษา และในครัวเรือน

...

สำหรับการลดระบาดจากโรงเรียนและสถานศึกษานั้นมี 2 เรื่องคือ...สถานศึกษาควรเตรียมห้องเรียนแยกสำหรับเด็กที่มีอาการป่วย ระหว่างรอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน ไปพักรักษาตัว และวางแผนการเรียนออนไลน์ หรือบทเรียนเสริมเท่าที่เด็กสามารถทำได้ สำคัญคือ...ดูแลสุขภาพ

“พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรสังเกตอาการของลูกในแต่ละวัน ก่อนไปส่ง และหลังรับกลับจากโรงเรียน ส่วนเด็กโต นิสิต นักศึกษาก็ควรประเมินตนเอง หากมีอาการป่วย ควรตรวจ atk ถ้าติดเชื้อก็หยุดรักษาตัวเสียก่อน และระมัดระวังการแพร่เชื้อติดเชื้อกันในบ้านหรือหอพักด้วย”

สำหรับประชาชนทั่วไปช่วงนี้ติดกันเยอะมากนะครับ ควรใส่หน้ากากป้องกันตัว ระวังที่แออัด เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้านโดยไม่ได้ป้องกันตัว ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น และที่สำคัญคือ คอยสังเกตและรักษาระยะห่างจากคนที่มีอาการป่วย

ข้อมูลคนเสียชีวิตในปี 2567 จาก “โควิด-19” หากไปดูในเว็บไซต์กรมควบคุมโรคจะพบว่าสถิติเสียชีวิตสะสมที่รายงานจนถึงสัปดาห์ล่าสุดนั้นอยู่ที่ 120 ราย แต่พอไปดูรายละเอียดรายพื้นที่จำแนกตามภูมิภาคจะพบว่าจำนวนรวมอยู่ที่ 122 ราย...อาจเป็นไปได้ว่า 2 รายที่ต่างกันนั้นเป็นผลจากวันเวลาที่เสียชีวิตก่อน 1 ม.ค.67

เยอะสุดคือ กรุงเทพมหานคร 67 ราย...ภาคกลาง 20 ราย...ภาคอีสาน 17 ราย...ภาคเหนือ 11 ราย และภาคใต้ 7 ราย ในขณะที่ข้อมูลผู้เสียชีวิตจำแนกตามช่วงอายุนั้นมีแสดงเฉพาะสัปดาห์ล่าสุด 16 ราย โดยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13 ราย และอายุน้อยกว่า 60 ปี 3 ราย

...

หากจำกันได้ ช่วงปลายเมษายนเคยมีการออกข่าวเกี่ยวกับลักษณะผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 148 ราย...เป็นคนที่ไม่ใช่สูงอายุคือ 0-59 ปี ถึง 55 ราย หรือ 37.1% นั่นคือ...กว่าหนึ่งในสาม

...เป็นข้อมูลที่เน้นย้ำให้เราทราบว่า “ไม่ใช่สูงอายุก็ควรป้องกันตัวให้ดี”

โดยแท้จริงแล้ว รายละเอียดเชิงประชากรนั้นมีความสำคัญมาก ควรมีการนำเสนออย่างละเอียดทั้งในกลุ่มผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล ปอดอักเสบ ใส่ท่อ และเสียชีวิต เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและทำความเข้าใจสถานการณ์ เพื่อดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์

รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า ประชาชนควรได้รับข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ที่ละเอียดกว่าที่รายงานประจำสัปดาห์...จำนวนคนป่วยนอนโรงพยาบาล ปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ ควรเปิดเผยว่ามีมากน้อยเท่าไร จำแนกตามช่วงอายุต่างๆ เพศ และจำแนกตามการมี...ไม่มีโรคประจำตัว จำนวนเสียชีวิตก็เช่นกัน

“การทราบรายละเอียดต่างๆจะเสริมสร้างให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ และวางแผนปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่รายงานดังที่เห็นกันมา”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม