ปัจจุบันรอยสักกำลังเป็นแฟชั่นสำหรับ “วัยรุ่นหนุ่มสาว” ต่างมองเป็นงานศิลปะร่วมสมัยแขนงหนึ่งในการสร้างรายได้ต่อ “เหล่าบรรดาช่างสัก” ส่งผลให้ธุรกิจสักลายฝีมือคนไทยโด่งดังไปทั่วโลก

ด้วยความที่คนไทย “ละเอียดลออ ปราณีต” จึงไม่แปลกที่จะได้รับความนิยมจนเติบโตขึ้นรวดเร็วอย่างเช่น “ร้าน P'nok tattoo” ที่มีลูกค้าจองคิวยาวเหยียด “ทีมข่าวสกู๊ป” เดินผ่านเจอได้มีโอกาสพูดคุยกับ “นก-ณัฐกร บุญเฟือง อายุ 42 ปี เจ้าของร้าน” ที่หันมาฝึกหัดการสักเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน

เคยผ่านความล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก้าวผ่านอุปสรรค “ประสบความสำเร็จ” สามารถสร้างเงินรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือนเลี้ยงครอบครัวอยู่อย่างสบายทุกวันนี้ได้อย่างไรนั้น “ณัฐกร” เล่าให้ฟังว่า

เดิมครอบครัว “เป็นคนขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ” พ่อแม่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนารับจ้างทั่วไป “ชีวิตสมัยเด็กค่อนข้างลำบากปากกัดตีนถีบ” ต้องดิ้นรนช่วยตัวเองต่อสู้ชีวิต มีโอกาสเรียนหนังสือจบแค่ชั้น ม.6

...

เมื่อเรียนจบปี 2543 ก็เข้ากรุงเทพฯ ทำงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ควบคู่กับเรียนต่อระดับอุดมศึกษาใน ม.รามคำแหง ได้ 1 ปี “รู้สึกเงินเดือนประจำไม่พอใช้” เริ่มหารายได้เสริมหลังเลิกงาน

ทว่าในระหว่างเรียน “ม.รามฯ” ได้เห็นรุ่นพี่รุ่นน้องสักลายตามตัว “รู้สึกว่าเท่” เพราะสมัยมัธยม “เรียนสายศิลป์” มีความชื่นชอบงานด้านศิลปะประเภทนี้อยู่แล้วเพียงแต่คราวนั้นการสักลายยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ทำให้ร้านสักค่อนข้างหายากอันเป็นปัจจัยให้ต้องการประกอบอาชีพสักลาย และมีร้านเป็นของตัวเอง

ต่อมาก็พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ “รุ่นพี่” ก่อนตัดสินใจสักครั้งแรกด้วยพระพุทธรูปลงบริเวณต้นแขน แล้วช่างก็เป็นรุ่นน้องพ้นโทษออกมา มีเสียงร่ำลือว่า “สักลายมือสวยมาก” จึงเชื่อใจให้สักนั้นปรากฏผลงานออกมากลับ “ไม่ตรงปก” กลายเป็นความรู้สึกไม่ดี และเก็บความผิดหวังไว้ในใจตลอดมา

ทำให้ทุกเย็นหลังเลิกงานมักมาพูดคุยกับ “ร้านสักลายย่านสำโรง จ.สมุทรปราการ” จนสามารถสร้างความคุ้นเคยสนิทสนมกับ “ร้านรุ่นพี่ที่เรียน ม.รามฯ” แล้วมักแวะเวียนมาเป็นลูกมือทำหน้าที่ช่วยเหลืองานเล็กๆน้อยๆ และคอยวิ่งซื้อของกินมานานกว่า 1 ปี แต่ว่าเขาก็ไม่ค่อยสอนเคล็ดลับรายละเอียดสำคัญอะไรมาก

ด้วยสมัยนั้น “ไม่มีโซเชียลมีเดีย” การค้นหาข้อมูลค่อนข้างลำบากแล้วการสักลายเป็นวิชาชีพจำเพาะ ค้นหาในห้องสมุดไม่ได้ต้องออกมาเรียนรู้จาก “ผู้มีประสบการณ์แบบครูพักลักจำ” จนสามารถเรียนรู้เทคนิคใช้เครื่องสักได้ระดับหนึ่งก่อนตัดสินใจ “ซื้อเครื่องสักคอยล์ 7,000 บาท” อันเป็นระบบแม่เหล็กไฟฟ้าขับเคลื่อนเข็ม

เพื่อมาฝึกฝนสักลง “บนผิวหนังหมู” ที่มีผิวใกล้เคียงผิวหนังคนให้ได้สัมผัสผิวเสมือนคนในการใช้เข็มสักลงบนหนังหมูให้คุ้นเคยกับผิว และฝึกลงน้ำหนักมือ อันเป็นการลดความเสี่ยงความผิดพลาดบนผิวคนจริง

เมื่อมีความชำนาญแล้ว “จำได้ว่าทดลองลงเข็มแรกกับลูกพี่ลูกน้องในรูปมังกรบนต้นแขน” ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นกดดันมาก เพราะต้องควบคุมการลงสีให้เส้นคม เงาเนียน และลงเข็มสีในระดับไม่เกิน 2 มิลลิเมตร มิเช่นนั้นแผลจะระบมหายยาก กลายเป็นแผลลอกให้สีหลุดออกได้ง่าย

แต่ปรากฏว่า “ผลงานออกมาค่อนข้างดีเกินคาด” จนมีการพูดปากต่อปาก ส่งผลให้เพื่อน และรุ่นน้องหลายคนเข้ามาเป็นลูกค้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะด้วยวงการสักล้วนเป็นเรื่องของการเชื่อมือ และการจะได้งานสักเยอะไม่เยอะ “ช่างต้องมีฝีมือการสักออกมาสวยงามเสมอ” เพื่อให้ถูกบอกต่อในวงว่าคนนั้นคนนี้มีฝีมือเป็นอย่างไร

แล้วก็เริ่ม “รับงานสักตามบ้าน” ด้วยความเป็นมือใหม่มักเสียค่าครูเยอะโดยเฉพาะค่าเข็ม และสีสัก ถูกหลอกให้ซื้อราคาแพงจากต้นทุนหลักร้อยก็มาขายให้หลักพันบาท/กล่อง แต่เรายังคงเก็บค่าสัก “หลักร้อยบาท” จนไม่คุ้มค่าน้ำมันรถ ค่าอุปกรณ์ สุดท้ายขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจต้องหยุดสักไปในปี 2554

...

กระทั่งปี 2560 “โซเชียลเข้ามาในไทย” ทำให้มีช่องทางค้นข้อมูลราคาอุปกรณ์แล้ว “ช่างสักลายก็จัดตั้งกลุ่มกัน” เพื่อให้มีพื้นที่โชว์ผลงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทั้งมีการประมูลอุปกรณ์ราคาถูก อีกมากมาย

ก่อนตัดสินใจ “ลาออกจากงานประจำ” หันมาประกอบอาชีพช่างสักลายจริงจัง และไปเซ้งร้านเสริมสวยมารีโนเวทใหม่ “เนรมิตให้เป็น ร้านสักร้าน P'nok tattoo” ในหมู่บ้านเปรมฤทัย อ.พระประแดง ด้วยการทำการตลาดผ่านบนโลกออนไลน์ “รวบรวมผลงาน” ทั้งการถ่ายรูป ถ่ายคลิป ทำคอนเทนต์ลง TikTok เฟซบุ๊กทุกวัน

ลูกค้าต่างเห็นผลงานติดต่อเข้ามาใช้บริการเป็นระยะ รายได้เฉลี่ย 15,000-30,000 บาทต่อเดือน

กระทั่งโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ “ร้านสัก” ต้องปิดให้บริการยาวนาน 3 ปี และเพิ่งกลับมาเปิดใหม่เมื่อต้นปี 2566 “ลูกค้า” ทราบจากออนไลน์ก็เริ่มกลับมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วลูกค้าส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวนิยมสักอิเรซูมิ หรือลายสักญี่ปุ่น ลักษณะแบบเต็มตัวทั้งแขนและขา

...

สำหรับสีสักที่ใช้อย่างเช่นยี่ห้อฮาราจูกุ ซุปเปอร์แบล็ค ไดนามิค และอีเทอนอล เพราะมีคุณสมบัติเข้ากับผิวหนังคนเอเชียได้ดี ทั้งหมึกเนื้อสีแน่น สักติดง่าย มีสีสดสวยงาม ทำให้ลูกค้าชื่นชอบเมื่อลายสักออกมานั้น

ถ้าถามว่าส่วนที่สักแล้ว “เจ็บที่สุด” มักแถวสีข้างที่มีเนื้อน้อยใกล้กระดูกซี่โครง “ผู้สัก” จะรู้สึกสั่นสะเทือนถึงกระดูกแต่ก็อาจขึ้นอยู่กับความอึดของ แต่ละคน “ใครอยากสัก กลัวเจ็บ” แนะนำว่าให้สักที่ต้นแขน เพราะเป็น จุดเจ็บน้อยที่สุด แล้วสิ่งสำคัญไม่ควรสักนานเกิน 4-5 ชม./รอบ มิเช่นนั้น อาจเกิดอันตรายต่อลูกค้าได้

เพราะร่างกาย “คนทนความเจ็บปวดได้เท่านี้” ยกเว้นใช้ยาชาที่อาจช่วยขยายเวลาไปอีก 2-3 ชม. แต่ไม่ควรนานกว่านั้นที่อาจทำให้“กล้ามเนื้อระบม แผลรอยสักอักเสบ” ทำให้เราต้องเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขอนามัย และความปลอดภัย เนื่องจากอาชีพสักใกล้ชิดกับผิวหนัง เลือด เข็ม และแผลสดของลูกค้า

ทำให้เราต้องมีมาตรฐานความสะอาด ตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ มักมีการทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการให้บริการสักเสมอ “เครื่องสักต้องอบฆ่าเชื้อ” แล้วระหว่างสักต้องมีผ้ากันเปื้อน เสื้อคลุม สวมถุงมือ หน้ากากอนามัยที่เปลี่ยนทุกครั้งหลังให้บริการโดยเฉพาะ “เข็มสัก” อันเป็นเสมือนเข็มฉีดยาต้องใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่มีการนำมาใช้ซ้ำเด็ดขาด

ส่วน “มาตรฐานสี” ต้องเป็นสีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานว่า “ใช้ในการสักเข้าร่างกาย” มีวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุที่ชัดเจน

...

สำหรับราคานั้น “ไม่มีตัวเลขตายตัว” ขึ้นอยู่กับลวดลาย ขนาด ความละเอียดตกลงกันระหว่างช่างกับลูกค้า “เริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นบาท” แล้วนับแต่เปิดร้านสักหลังโควิด-19 ลูกค้าค่อนข้างนิยมสักกันมาก สร้างรายได้ 20,000-40,000 บาท/เดือน ต่างจากอดีตรอยสักไม่เป็นที่นิยมแถมไม่เป็นที่ยอมรับ ถูกมองเป็นสิ่งน่ากลัว

ย้ำปัจจุบันสังคมไทย “ยอมรับรอยสักเป็นรสนิยมส่วนตัวเปิดกว้างมากขึ้น” จนมีโรงเรียนสอนสักเรียนรู้เทคนิคการสร้างรูปภาพ การจัดองค์ประกอบ เทคนิคเดินเส้นคมเนียน การลงสี และการสักงานสี เทคนิคการสักลงแสงเงานุ่มเนียน การลงเข็มสัก การสักลายมินิมอล ทำให้เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้เร็วสามารถเปิดร้านได้ง่ายขึ้นกว่าอดีต

สุดท้ายนี้รู้สึกภูมิใจกับอาชีพสักลายเพราะเคยผ่านการล้มเหลวมาหลายครั้ง แต่ด้วยใจรักด้านนี้พยายามฮึดสู้มาตลอดจนมีร้านของตัวเอง ในอนาคตจะพัฒนาร้าน P'nok tattoo รองรับต่างชาติ และนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองไทย เพราะด้วยฝีมือการสักช่างไทยนั้นถูกกล่าวขานในกลุ่มผู้ชื่นชอบศิลปะบนผิวหนังไปทั่วโลกแล้ว

นี่เป็นอีกความสำเร็จจาก “เด็กหนุ่มบ้านนอก” แต่อาศัยความมุ่งมั่นทำตามความฝันแรงกล้า “ฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย” จนประสบความสำเร็จกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ท้อแท้สิ้นหวังอยู่ขณะนี้.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม