อันเนื่องมาจาก สภาวะโลกเดือด ทำให้สังคมโลกหันมาสนใจปัญหา การลดโลกร้อน มากขึ้น มีการศึกษาหาพลังงานทดแทนใหม่มาแทนพลังงานน้ำมันและก๊าซ ที่ทำให้เกิดผลกระทบกับธรรมชาติ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์

ยานยนต์ไฟฟ้า ได้รับความนิยมในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่เชื่อว่าจะสามารถลดมลพิษจากคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มาก เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานีประจุไฟฟ้าหรือการติดเครื่องชาร์จไฟฟ้าภายในบ้าน

ในขณะเดียวกัน พลังงานทดแทนที่ได้รับความสนใจและมีการพัฒนาควบคู่ไปกับยานยนต์ไฟฟ้า คือ พลังงานไฮโดรเจน ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก บางประเทศมีการทดลองพัฒนาก่อน รถ EV ด้วยซ้ำ ยิ่งความต้องการใช้พลังงานสะอาดสูงมากขึ้นเท่าไหร่ เชื่อว่าไฮโดรเจนจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน หรือ Energy Transition ที่จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยอีกต่อไป

เพราะไฮโดรเจนที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น น้ำ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีการเผาไหม้ที่สะอาดไม่ปล่อยมลพิษ และสามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย หรือที่เรียกว่า ความท้าทายในเรื่องของต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาไฮโดรเจนสีเขียวและสีฟ้า มีราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ยังมีความยากในการจัดเก็บและการขนส่ง
รวมทั้งความปลอดภัยในการใช้งานด้วย

ไฮโดรเจน จะแตกต่างกันที่แหล่งวัตถุดิบที่มาจากหลายประเภททำให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่างกัน เช่น ไฮโดรเจนสีน้ำตาล ใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบ จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด รองลงมา ไฮโดรเจนสีเทา เป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ ไฮโดรเจนสีฟ้า ใช้ก๊าซธรรมชาติเหมือนกันแต่ผ่านกระบวนการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า ไฮโดรเจนสีชมพู ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และ ไฮโดรเจนสีเขียว ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในการผลิต เช่น จากพลังงานแสง อาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ทำให้ได้ไฮโดรเจนที่บริสุทธิ์มากที่สุด ในปัจจุบันสามารถผลิตได้เพียงร้อยละ 5 ของไฮโดรเจนทั้งหมด

...

ปัจจุบันไฮโดรเจนถูกมองว่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ ช่วยลดคาร์บอนได้มากที่สุด มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไฮโดรเจนกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะตะวันออกกลางสนใจที่จะเข้ามาลงทุนผลิตไฮโดรเจนในบ้านเราด้วย ตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจน ในเยอรมนี มีการทดลองใช้รถไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนแทนรถดีเซล ในญี่ปุ่น บริษัทผลิตรถยนต์ชื่อดังทดลองผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนออกมาใช้งาน ในฝรั่งเศส เริ่มผลิตจักรยานยนต์พลังไฮโดรเจนและเรือพลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งสินค้า

ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า และการขนส่ง เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวลดลง ทำให้ราคาต่ำลง 40-50% ตามนโยบายรัฐบาล

เป็นก้าวใหม่ของพลังงานในอนาคต.


หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม