พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน “100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน ด้วย Soft Power” เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ภายใต้วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยว และวิทยาการสุขภาพ ภายใต้ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ด้วยการบูรณาการศาสตร์ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” จัดขึ้นวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้เกียรติมาบรรยาย “นโยบายการสนับสนุน Soft Power ของ กระทรวง อว.” นายณัฏฐชัย นําพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี คุณกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้แทนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ และผู้สนใจเข้าร่วมงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การวิจัยนวัตกรรม นโยบายและแผน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “แผนงานวิจัยเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สำหรับความมั่นคงด้านอาหาร” ซึ่งทาง สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยในปี 2566 เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีด้านอาหาร ที่ได้พัฒนาทั้งห่วงโซ่คุณค่าของเพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ที่ได้รับรองโดย UNESCO (Phetchaburi Creative City of Gastronomy) ตั้งแต่ต้นน้ำ การพัฒนาระบบเกษตรปลอดภัย และระบบ Traceability ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญใน 4 รส คือ เปรี้ยวจากมะนาว หวานจากน้ำตาลโตนด เค็มจากเกลือสมุทร และเผ็ดจากพริกกะเหรี่ยง การพัฒนาตำรับอาหารเมืองเพชรที่รับรองโดย UNESCO เป็นมาตรฐาน การพัฒนาตำรับอาหารเมืองเพชรที่เป็น Fusion ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ การทำสื่อสารการตลาดดิจิทัลกับผู้บริโภค ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ในการดำเนินการแผนงานวิจัยนี้ได้ผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่าสุทธิ 4.4 ล้านบาท (SROI 2.88 เท่า)
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกต่างๆ ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวทนเค็ม ซึ่งผลการวิจัยในพื้นที่จริงมีเปอร์เซ็นต์การรอดของข้าวสูงขึ้น และข้าวมีลักษณะหอมนุ่ม การพัฒนาพันธุ์มะละกอปลักไม้ลายทนโรค ที่สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรประมาณ 80,000 บาท/ไร่
การพัฒนาระบบ Smart Farm ในการผลิตไข่เป็ด ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำขนม ซึ่งเกษตรกรสามารถขายไข่เป็ดได้ปริมาณมากขึ้นให้กับผู้ประกอบการทำขนม และมีรายได้ปีละ 2 ล้านบาท ซึ่งได้รับทุนวิจัยพื้นฐานจาก สกสว. แผนงานวิจัย LCP Food Valley ซึ่งมีการนำงานวิจัยไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ และส่งเสริมขนมหวานเมืองเพชร พร้อมช่วยส่งเสริมช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการ สร้างรายได้เพิ่มให้ผู้ประกอบการ 4.9 ล้านบาท จากการขายภายในประเทศและการส่งออก
การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงโรยข้าวจากผักเคล (Super Food) และปลาเพื่อเสริมแคลเซียมที่ไม่มีการใส่ผงปรุงรสเพื่อสุขภาพ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ 1.4 ล้านบาท ในแผนงานวิจัย Western Safe Park ซึ่งแผนงานวิจัยเหล่านี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สวก. นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของเมืองเพชรบุรี เช่น ผ้าลาย “เพ็ชรราชวัตร” ซึ่งได้มาจากงานวิจัยของศูนย์วิจัยสิงขร-มะริด ได้ศึกษาวิจัยสืบค้นประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยา พร้อมทั้งคิดค้นการวางลายผ้า การหาคู่สีใหม่จนออกมาเป็นผ้าลายอย่างที่งดงามตระการตา นอกจากจะสวยทั้งสีและลาย ยังสะท้อนถึงความเป็นมาของเมืองเพชรบุรีได้เป็นอย่างดี
โครงการวิจัยศิลปะร่วมสมัยเชิงสร้างสรรค์จากต้นทุนทางวัฒนธรรมงานสกุลช่างเมืองเพชร ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ในปี 2566 ที่ได้ศึกษาลายปูนปั้นของวัดสำคัญที่สร้างในสมัยอยุธยาในจังหวัดเพชรบุรี มาประยุกต์เชิงสร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างและสวยงามของงานสกุลช่างเมืองเพชร และโครงการศึกษาและสำรวจช่างศิลป์ท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรีเพื่อการยกระดับคุณค่าและพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนจากธัชชา ในปี 2566 ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เก็บรวบรวมช่าง และผลงานศิลป์ท้องถิ่นของช่างเมืองเพชรอย่างเป็นรูปธรรม และนอกจากงานที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีการจัดแสดงหุ่นยนต์ที่ช่วยงานทางการแพทย์ในช่วงโควิด ซึ่งพัฒนามาจากอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซึ่งไปประกวดได้รางวัล Silver Award ในงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ ปี 2566
ในการจัดงาน 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีครั้งนี้ เห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยมุ่งมั่น และพร้อมขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ในศตวรรษหน้า ไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยว วิทยาการสุขภาพ และดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และมุ่งมั่นก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ