เพื่อนำองค์ความรู้จากประเทศจีนมาประยุกต์ใช้ทำฝนเทียม ให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภคกับผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำฝนในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนพื้นที่ที่มีอุปสรรคด้านการบิน

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กรมฝนหลวง และการบินเกษตร กรมชลประทาน บริษัท มดทองพัฒนา จำกัด และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันทำพิธีลงนามสัญญาสนับสนุนโครงการ “การศึกษาศักยภาพการเพิ่มปริมาณน้ำฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำในประเทศไทย” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

การทำเอ็มโอยูครั้งนี้เป็นผลจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง ร่วมกับห้องปฏิบัติการหลักของรัฐด้านอุทกวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงฮวา สาธารณรัฐ ประชาชนจีน เพื่อร่วมกันศึกษาและวิจัยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในชั้นบรรยากาศ และพัฒนาเทคโนโลยีเหนี่ยวนำฝนด้วยคลื่นเสียงความถี่ต่ำ ที่สามารถจะกำหนดจุดให้ฝนตกได้

เป็นเทคโนโลยีการทำฝนที่ใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำ กระตุ้นการสั่นสะเทือนของเม็ดน้ำในก้อนเมฆให้เกิดกระบวนการชนและรวมตัวกัน และเพิ่มจำนวนเม็ดน้ำขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย ถือเป็นเทคโนโลยีการทำฝนที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนเชิงพื้นที่ได้

และผลการทดลองงานวิจัยในจีน พบว่า การทดสอบทำฝนบริเวณแม่น้ำฮวงโห ในช่วงฤดูร้อนปี 2562 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำฝนได้ร้อยละ 18.98 ร้อยละ 10.61 และร้อยละ 8.74 ในพื้นที่รัศมี 2, 3 และ 5 กิโลเมตรจากจุดติดตั้งเครื่องมือ ซึ่งปัจจุบันจีนได้ใช้เทคโนโลยีนี้ เพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำ การเติมน้ำใต้ดิน การปรับปรุงระบบนิเวศ และการเพิ่มปริมาณฝนสำหรับทุ่งหญ้า

...

สำหรับการทำเอ็มโอยูเพื่อการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ได้มีการคัดเลือกพื้นที่ในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่นำร่องดำเนินโครงการฯ.

สะ-เล-เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม