วันนี้โรงเรียนทุกแห่งคงเปิดเรียนกันไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับปีการศึกษา 2567 น้องๆนักเรียนได้กลับมาเรียนและทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งนั่นหมายถึงการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก

ขณะที่ประเทศไทยก็กำลังจะก้าวเข้าสู่ฤดูฝนแล้วเช่นกัน และนั่นก็เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อหลายชนิด รวมถึงสิ่งที่เป็นภัยต่อสุขภาพ นำทีมโดย โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และอุบัติภัยจากสารเคมี ซึ่งเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพที่กรมควบคุมโรค เกาะติดและหยิบยกมาเตือนสังคมดังๆให้ระมัดระวังตัว

“กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังการระบาดของโรคทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียนที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน พ.ค.2567 มีผู้ป่วยสะสม 127,385 คน เสียชีวิตสะสม 6 คน เป็นเด็ก 2 คน ผู้ใหญ่ 4 คน โดยกลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี ป่วยมากที่สุด ทุกคนจึงควรล้างมือบ่อยๆ เมื่อไอ จาม ควรใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูทุกครั้ง ถ้าสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ให้สวมหน้ากากขณะอยู่ในสถานที่มีคนอยู่จำนวนมาก สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค. ขณะที่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการบุตรหลานวัยเรียน หากมีอาการไข้ ไอ ให้รีบพาไปพบแพทย์ และหยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายดี” พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค เล่าถึงสถานการณ์โรคติดต่อต่างๆ รวมถึงแนวทางในการป้องกัน

...

พญ.จุไร ยังเน้นย้ำด้วยว่า โรคสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงโรงเรียนควรตระหนักถึงเชื้อโรคร้ายที่อยู่รอบตัวเด็กๆและทุกคน

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์

โรคต่อมาคือ โรคโควิด-19 แม้ว่าผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสายพันธุ์ของโรคโควิด-19 มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งแพร่กระจายมากกว่าเดิมแต่ความสามารถในการจัดการกับเซลล์ปอดลดลง ทำให้ผู้ป่วยหนักลดลง สำหรับคำแนะนำคือ ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดบริเวณจุดสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิด ราวบันได เมื่อเข้าไปในพื้นที่ปิด ควรสวมหน้ากากอนามัย สำหรับกลุ่มเสี่ยงเข้าไปในพื้นที่ชุมชนแออัด ให้สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย กรณีลูกหลานมีอาการไข้หวัดให้สวมหน้ากาก ให้ตรวจ ATK ที่บ้าน หากพบผลบวกให้พบแพทย์ โดยเบื้องต้นไข้หวัดใหญ่นั้นส่วนใหญ่คนไข้จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนอาการโควิด-19 ไข้อาจไม่สูง ระคายคอ ให้ตรวจ ATK ก่อน หากเป็นบวกให้พบแพทย์ ซึ่งแพทย์ก็จะตรวจหาเชื้อทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19

โรคไข้เลือดออก ปีนี้มีผู้ป่วยสะสม 27,334 คน เสียชีวิต 31 คนอัตราการเสียชีวิตเริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น คำแนะนำคือ สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะโรงเรียนและวัดต้องทำทุกๆ 7 วัน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ป้องกันยุงกัด ทายาป้องกันยุง โดยผู้ป่วยก็ต้องทายากันยุงด้วย รวมทั้งฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย ที่สำคัญกรณีเป็นไข้ให้รับยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอลเท่านั้น หาก 2-3 วัน ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีผื่นจุดแดงขึ้นตามตัวให้รีบพบแพทย์

...

โรคมือเท้าปาก ซึ่งระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่มที่พบมากที่สุดคือ อายุ 0-4 ปี คำแนะนำสำหรับพ่อแม่คือ สอนให้เด็กหมั่นล้างมือบ่อยๆหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในสถานที่แออัด หากพบเด็กมีตุ่มในปาก มีอาการเจ็บคอ น้ำลายยืด ควรพบแพทย์ หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ควรหยุดเรียน 1 สัปดาห์ สำหรับสถานศึกษาควรคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียน แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสในห้องเรียน ห้องน้ำ ของเล่น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ให้เด็กล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร หากพบเด็กป่วยมากกว่า 2 คน ในห้องเดียวกันภายใน 1 สัปดาห์ ให้ปิดห้องเรียนนั้นเป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อทำความสะอาดห้องเรียน และแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่รับผิดชอบทราบ

...

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จะพบมากขึ้นเมื่อเข้าฤดูฝน ในทุกกลุ่มอายุ เชื้อไวรัสที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ โนโรไวรัส ชาโปไวรัส และโรต้าไวรัส ดังนั้น ต้องยึดหลักกินอาหารสุก ร้อน สะอาด ไม่กินอาหารดิบหรือสุกๆดิบๆ สำหรับอาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ควรอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างมือทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร รักษาความสะอาดของอุปกรณ์ เครื่องใช้ ขณะเล่นน้ำระวังอย่าให้เด็กกลืนละอองน้ำเข้าปาก เลือกรับประทานน้ำแข็งจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ผู้มีอาการอุจจาระร่วงไม่ควรทำหน้าที่เตรียมอาหาร สำหรับสถานศึกษา ควรตรวจสอบคุณภาพน้ำ ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในโรงอาหาร ให้ความรู้นักเรียนเรื่องอุจจาระเฉียบพลัน เน้นการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เฝ้าระวังนักเรียน ครู บุคลากร หากพบว่าป่วยให้หยุดเรียนหรือหยุดงานจนกว่าจะหาย

...

นอกจากนั้นยังมีภัยทางสุขภาพอื่นๆที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในช่วงนี้ ได้แก่ การอุบัติภัยสารเคมี เรื่องนี้ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อุบัติภัยสารเคมี พบหลายพื้นที่ เช่น ไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมี จ.ระยอง จ.พระ นครศรีอยุธยา จ.สมุทรสาคร เป็นต้น เกือบทุกกรณีกระทบต่อชุมชนและโรงเรียน ทางกรมมีคำแนะนำคือ หากเกิดเหตุไม่ควรระงับเหตุด้วยตนเอง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยหรือหมายเลข 1650 และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ ออกจากพื้นที่เสี่ยงไปยังที่ปลอดภัยเหนือลม สวมหน้ากากป้องกันไฟตลอดเวลา สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ และติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

“ทีมข่าวสาธารณสุข” เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการออกมาเตือนของกรมควบคุมโรค เพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักและรับรู้ว่าเชื้อโรคร้ายยังคงมีอยู่รอบตัวเรา ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วงเฉียบ พลัน รวมทั้งผลกระทบจากสารเคมีซึ่งระยะหลังเกิดขึ้นบ่อยในหลายพื้นที่ และส่งผลในวงกว้างกับทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงเด็กๆ

แต่สำคัญที่สุดและเป็นหัวใจที่เราอยากฝากคือ ผู้ปฏิบัติทั้งโรงเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงตัวเด็กเอง ต้องตระหนักถึงหน้าที่ตนเอง และไม่ประมาทในการเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเคร่งครัดและจริงจัง

อย่าชะล่าใจกับโรคติดต่อที่เป็นภัยของลูกหลานอันเป็นที่รัก ที่สุดท้ายอาจต้องจบลงด้วยการสังเวยชีวิต เพราะนั่นคือความสูญเสียที่เจ็บปวดและเลวร้ายเกินกว่าจะประเมินค่าได้.

ทีมข่าวสาธารณสุข

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่