เสียงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎข้อบังคับนักเรียนต้องแต่งเครื่องแบบไปโรงเรียนมีมานานแล้ว เคยมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นหลายเวที มีการเสนอเรื่องพิจารณาถึง รมว.ศึกษาธิการหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนกล้าเดินหน้าอย่างจริงจัง แต่วันนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้ส่งสัญญาณจะยกเลิกข้อบังคับแต่งเครื่องแบบไปโรงเรียนให้สำเร็จเป็นรูปธรรมถือเป็นข่าวดีรับการเปิดภาคเรียน 2567

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.67 ตรงกับวันเปิดเทอม พล.ต.อ.เพิ่มพูนมีคำสั่ง ถึงหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า “ตามที่ได้มอบนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ที่มุ่งเน้นการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง สู่การศึกษา เพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ให้ทุกหน่วยนำไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและปฏิบัติราชการนั้น

เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง จึงให้ทุกหน่วยแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบและรองเท้าของนักเรียน เป็นชุดหรือรองเท้าอื่นโดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม แล้วรายงานผลการดำเนินการพร้อมข้อมูลนักเรียนที่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน ให้ รมว.ศึกษาธิการทราบ”

คำสั่งนี้ยังไม่ถึงขั้นยกเลิกข้อบังคับแต่งเครื่องแบบ เพียงแค่ ยกเว้นผ่อนผัน บ้านไหนยังอยากให้ลูกหลานแต่งชุดนักเรียนเหมือนเดิมก็ทำได้ แต่หากครอบครัวไหนมีภาระค่าใช้จ่ายสูง หรือถึงขั้นต้องไปกู้เงินมาซื้อชุดนักเรียน ก็ให้ลูกแต่งชุดธรรมดาไปเรียนได้ แต่ต้องเป็นชุดที่สุภาพเรียบร้อย

ที่สำคัญทุกโรงเรียนต้องรายงานข้อมูลจำนวนนักเรียนที่ไม่แต่งชุดนักเรียน รวมถึงผลการดำเนินการกลับมาให้ รมว.ศึกษาธิการรับทราบ เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงและพิจารณาผลดีผลเสีย เช่น มีเด็กไม่แต่งชุดนักเรียนกี่เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลอะไร ผลการเรียนดีขึ้นหรือแย่ลง ร่าเริงขึ้นหรือไม่ ฯลฯ หากผลออกมาว่าเด็กเรียนดีขึ้น หรือเท่าเดิม (แต่ผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายได้) ไม่แน่ปีหน้าอาจมีการยกเลิกข้อบังคับแต่งชุดนักเรียนก็ได้

...

การเก็บข้อมูลครอบคลุมทั้งประเทศทำให้เห็นของจริง จะได้รู้แน่ชัดว่าเด็กจะเรียนเก่ง ความประพฤติดี จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนเท่านั้นหรือ

มีอีกเรื่องที่เป็นข่าวลุ้นระทึกรับเปิดเทอม กรณีการผลิตแบบเรียนประจำปี 2567 ซึ่งปีนี้มีการปรับปรุงต้นฉบับ ทำให้เริ่มต้นการผลิตล่าช้ากว่าปกติ องค์การค้าของ สกสค. จึงแบ่งการพิมพ์ออกเป็น 30 กลุ่ม รายวิชา เพื่อกระจายการพิมพ์ให้ 9 โรงพิมพ์ที่มีศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดสัญญา 14 พ.ค. มีโรงพิมพ์ 8 ราย ที่ผลิตหนังสือเรียนได้ถูกต้องตามสัญญา ส่วนโรงพิมพ์อีก 1 ราย ซึ่งได้รับสิทธิจำนวนพิมพ์มากที่สุดกลับไม่สามารถผลิตได้ตามสัญญา มีปัญหาทั้งในเรื่องคุณภาพหนังสือ (ตัวอักษรไม่สวยงาม เบลอทับซ้อน อ่านไม่ออก) และส่งไม่ครบตามจำนวน

ผมว่าองค์การค้าคิดถูกแล้วที่แบ่ง 30 กลุ่มรายวิชาแล้วกระจายการพิมพ์ ไม่ให้โรงพิมพ์เดียวที่เสนอราคาต่ำสุดรับเหมาพิมพ์ทั้งหมด เพราะเสี่ยงต่อการพิมพ์เสร็จไม่ทัน

นอกจากนี้ องค์การค้าวางระบบไว้รัดกุม โดยให้ผู้รับจ้างทุกราย พิมพ์หนังสือตามลำดับ ไม่ใช่ให้จัดคิวพิมพ์เองตามใจชอบ เริ่มจากพิมพ์หนังสือของภาคเรียนที่ 1 ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยพิมพ์หนังสือของภาคเรียนที่ 2 ทำให้ถึงแม้โรงพิมพ์ส่งหนังสือไม่ครบ แต่หนังสือของภาคเรียนที่ 1 นั้นจัดพิมพ์เสร็จแล้ว ส่วนที่ยังขาดคือหนังสือของภาคเรียนที่ 2 องค์การค้าจึงสามารถส่งหนังสือภาคเรียนที่ 1 ไปให้ร้านค้าตัวแทนจำหน่าย เพื่อส่งไปยังโรงเรียนได้ทันก่อนเปิดเทอม เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

งานนี้นอกจากเรียกร้องความรับผิดชอบตามสัญญาแล้ว องค์การค้าอาจจะพิจารณาว่าควรขึ้นแบล็กลิสต์ด้วยหรือไม่ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการเรียนการสอนในอนาคต.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม