หลังจากเผชิญอากาศร้อนอย่างหนักในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เข้าสู่เดือน พ.ค. ซึ่งตามปกติ ในหลายๆปีที่ผ่านมา อากาศจะเริ่มลดความร้อนแรงลงและจะเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการในช่วงหลัง “วันพืชมงคล”

แต่สำหรับปีนี้ แม้ว่าจะเข้าสู่เดือน พ.ค.แล้ว แต่ความร้อนยังไม่มีทีท่าจะลดลง อุณหภูมิสูงสุดยังเฉลี่ยอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส และตามการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา “การเข้าสู่หน้าฝนปีนี้จะล่าออกไปเป็นช่วงปลายเดือน พ.ค.” แปลว่าเราจะต้องทนร้อนทนแล้งกันไปอีกเกือบหนึ่งเดือนเต็มๆ

และที่น่าเป็นห่วงคือปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งมีการสำรวจ ณ วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 41,458 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54% ของความจุอ่าง (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 17,516 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33%) ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 นอกจากนั้น หากดูปริมาตรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของปริมาตรน้ำใช้การ ในขณะนี้มีจำนวน 16 แห่ง

ยกตัวอย่าง เช่น เขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำใช้การได้ที่ 29% เขื่อนสิริกิติ์ 19% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 26% เขื่อนจุฬาภรณ์ 13% เขื่อนอุบลรัตน์ 21% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 15% และเขื่อนขุนด่านปราการชล 17%

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากเราจะอยู่ในช่วงต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำในปีนี้ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีมากๆ ทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร

จะปล่อยความหวังไว้ที่ฟ้าฝนคงทำได้ยาก เพราะกรมอุตุฯยังระบุไว้ด้วยว่า แม้เราจะเข้า หน้าฝนในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน พ.ค. แต่ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.ถึงกลางเดือน ก.ค. ปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน

...

และทุกครั้งที่เกิดปัญหาภัยแล้ง คนที่ได้รับผลกระทบสูงสุดหนีไม่พ้นเกษตรกรที่จะต้องเผชิญกับปัญหาผลผลิตตกต่ำ ไม่มีผลผลิตจะขายแม้ราคาสินค้าเกษตรจะสูงขึ้น ขณะเดียวกัน หากผ่านหน้าแล้งปีนี้ไปได้ เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีฝนตกหนัก ฝนชุก จากการเปลี่ยนผ่านปรากฏการณ์เอลนินโญไปสู่ลานินญา ก็ยังต้องกังวลกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรง ที่จะกระทบต่อผลผลิตการเกษตรอีกระลอก

นอกจากนั้น จากการพยากรณ์อากาศทั่วโลกพบว่า ในช่วงจากนี้ไปโลกกำลังเข้าสู่ภาวะแห้งแล้งมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากประเทศปานามา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีฝนตกชุกที่สุดในโลก ขณะนี้มีการพยากรณ์กันว่า น้ำในคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักของเรือสินค้าทั่วโลก ในอนาคตอาจจะลดต่ำลงจนเรือสัญจรได้ลำบาก หากน้ำในคลองยังคงลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการคาดการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่พบว่า ปริมาณน้ำในคลองปานามาช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ลดต่ำลงกว่าระดับปกติในช่วงเดียวกันของหลายๆปีก่อน

“ประเทศไทย” ซึ่งเป็นประเทศที่ยืนอยู่ได้ด้วยภาคเกษตรกรรมจึงไม่ควรประมาทอันตรายที่มาจาก “ภัยธรรมชาติ” ที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลควรเร่งหาทางรับมือกับผลกระทบต่างๆ ทั้งอากาศร้อน น้ำแล้ง น้ำท่วมโดยเร็ว และจะให้ดีที่สุดจะต้องเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน.

มิสเตอร์พี

คลิกอ่าน "กระจก 8 หน้า" เพิ่มเติม