นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำของรัฐเปิดบริการ 45 สาขา ครอบคลุม 30 จังหวัด ปีนี้จะขยายอีก 2 สาขาในกรุงเทพฯ ที่บางขุนเทียนและเคหะร่มเกล้า และปี 2568 จะขยายไปที่ จ.นครปฐม และร้อยเอ็ด เป้าหมายของ สธค.ต้องการขยายบริการให้ครบทุกจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ โรงรับจำนำในไทยมีกว่า 1,000 แห่ง เป็นของภาคเอกชน 700 แห่ง สถานธนานุบาล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล 300 แห่ง เป็นความจำเป็นที่ต้องมีสถานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพราะ สธค.กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ต่อเดือนจากเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท เป็นอัตราต่ำกว่าที่อื่น เป็นหลักไม่ให้สังกัดอื่นตั้งดอกเบี้ยสูงเกินควร
นายธเนศพลกล่าวด้วยว่า บทบาทท้าทายของ สธค.ในการก้าวขึ้นปีที่ 70 นั้น คณะกรรมการอำนวยการ สธค.และผู้บริหาร สธค.ไม่ได้มองเพียงทำกำไร แต่สำคัญยิ่งกว่าคือการพัฒนาองค์กรให้แข็งแรงในการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางให้มากที่สุด แนวทางหนึ่งที่กำลังคิดผลักดันเรื่องไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance) เป็นระบบการเงินที่เน้นปล่อยสินเชื่อจำนวนเล็กๆให้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีกว่า 1.4 ล้านคน อาจจะเป็นลักษณะเงินกู้เพื่อสงเคราะห์อาชีพ เพราะบางคนอยากได้ทุนแค่ 5,000 บาท เพื่อเปิดร้านส้มตำ ร้านขายอาหารเล็กๆ แต่หาแหล่งทุนไม่ได้ จึงตกเป็นเหยื่อหนี้นอกระบบ ดังนั้นหากจะทำอาชีพอะไรใช้ทุนเท่าไหร่จะมีการวิเคราะห์ให้และผ่อนคืนรายวัน ซึ่งกำลังศึกษาวิธีการที่ดี อย่างไรก็ตามภารกิจเร่งด่วนของ สธค.ขณะนี้คือการยกฐานะเป็นนิติบุคคล อาจจะเป็นในรูป ขององค์การมหาชนหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อเอื้อต่อการ ดำเนินการเชิงธุรกิจ คาดจะเห็นผลภายในปีนี้.
...
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่