ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุกอดีตผอ.-อดีตรอง ผอ.ร.ร.มัธยมศึกษา สามเสนวิทยาลัย ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ คนละ 18 ปี 24 เดือน ในคดีเรียกรับเงินบริจาค 1.44 ล้านบาท จากผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.1 จำนวน 6 รายแลกกับการรับเข้าเรียน เหตุเกิดเมื่อปี 60 ถูกจับได้ไม่นำเงินเข้าระบบเป็นรายได้ของโรงเรียน ทั้งคู่ถูกส่งเข้าค้างคืนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รอศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ศาลเปิดเผยผ่านเอกสารมีการอ่านคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องนายวิโรฒ สำรวล อดีต ผอ.ร.ร.สามเสนวิทยาลัย กับรอง ผอ.และเจ้าหน้าที่การเงิน เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและข้อหาอื่นๆ ในกรณีร่วมกันกระทำความผิดด้วยการเรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียนโดยไม่นำเข้าระบบการเงินเพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียนและร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคไปโดยทุจริต ศาลใช้เวลาสืบพยาน 7 นัด รวมเวลา 10 เดือน 18 วัน ก่อนมีคำพิพากษา

คดีนี้ ป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.60 จำเลยที่ 1 ในฐานะ ผอ.ร.ร.มัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัย และจำเลยที่ 2 ในฐานะรอง ผอ.ร.ร.มัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัย ร่วมกันกระทำความผิด เรียกรับเงินบริจาค 1.44 ล้านบาท จากผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.1 จำนวน 6 ราย แลกกับการได้รับเข้าเรียนในโรงเรียน โดยไม่นำเงินเข้าระบบการเงินเพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน ร่วมกัน เบียดบังเงินบริจาคไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตและยังร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นครูใน ร.ร.มัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัย ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่การเงินเเละบัญชีของโรงเรียนกรอกข้อความลงในเอกสารใบเสร็จรับเงินซึ่งไม่ตรงต่อความจริงอันเป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-2 ตาม ป.อาญา ม.147 ม.148 ม.157 และ ม.162 (1), (5) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม ป.อาญา ม.148 ม.157 และ ม.162 (1), (4) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม.123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ม.192 และขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้

...

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในความผิดฐานร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคนั้น โจทก์มีผู้ปกครอง 6 ราย ให้การยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมกันรับเงินบริจาคเงินที่ประสงค์จะมอบให้ ร.ร.มัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัยเพื่อให้บุตรหลานของตนได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาในโรงเรียน ประเภทเงื่อนไขพิเศษแต่กลับไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินให้ และจำนวนเงินที่ผู้ปกครองกล่าวอ้างนั้นสอดคล้องกับหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีธนาคาร และต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 และ 2 มาก่อน นอกจากนี้ ยังพบพิรุธว่าระหว่างที่มีการเก็บเงินบริจาคไว้นั้น ปรากฏ คลิปวิดีโอที่ตัวแทนผู้ปกครองแอบบันทึกไว้ขณะที่มีการส่งมอบเงินบริจาคให้แก่จำเลยที่ 1 และ 2 เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน หลังจากจำเลยที่ 1 แถลงข่าวแล้ว จำเลยทั้งสามรีบตามเจ้าหน้าที่การเงินมาออกใบเสร็จย้อนหลังให้และในใบเสร็จไม่ได้ระบุชื่อผู้บริจาค ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้แล้วรีบนำเงินบริจาคเข้าระบบบัญชีเงินฝากของโรงเรียน ถือเป็นการกระทำเพื่อปกปิดความผิดที่สำเร็จลงแล้ว

ส่วนความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของโรงเรียนกรอกข้อความ ลงในใบเสร็จรับเงินอันเป็นเท็จและฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารอันเป็นเท็จและมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็น เท็จนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการออกใบเสร็จรับเงิน ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ร่วมลงลายมือชื่อและจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่โดยตรงหรือทั่วไปเกี่ยวกับการ ออกใบเสร็จรับเงินและการข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้ บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดนั้น การที่จำเลยร่วมกันให้เจ้าหน้าที่การเงินกรอกข้อความในใบเสร็จรับเงิน มิใช่การมอบ หรือ หามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด การกระทำ ของจำเลยทั้งสามจึงไม่ได้บังคับข่มขืนใจเจ้าหน้าที่การเงิน เป็นการกระทำโดยสมัครใจเอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่เป็นความผิดตามข้อหาดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

พิพากษาจำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อาญา ม.147 ในลักษณะเป็นตัวการ การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นความผิดหลายกรรม จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 กระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง จำคุกคนละ 30 ปี ทางนำสืบและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และ 2 กระทงละ 1 ใน 3 ตาม ป.อาญา ม.78 จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 6 กระทง คงจำคุก คนละ 18 ปี 24 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมกันชำระเงินหรือแทนกันชำระเงินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เป็นเงิน 7 เเสนบาท โดยให้ริบเงินจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ภายหลังฟังคำพิพากษาจำเลย 1 และ 2 ยื่นคำร้องประกอบหลักทรัพย์ขอประกันตัว ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง ส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 และ 2 ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวก่อนคุมตัวจำเลยที่ 1 และ 2 ส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวลงมา

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่