นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากข้อมูลการใช้บริการ Mental Health Check In วันที่ 1 ม.ค.-20 เม.ย.2567 พบว่าประชาชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครที่ให้ข้อมูลกว่า 1,200 คน มีความเครียดสูง ร้อยละ 58.20 เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 61.07 และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 43.65 ตัวเลขดังกล่าวถึงเป็นจำนวนที่สูงแต่ก็ทำให้เห็นว่าเยาวชนเหล่านั้นมีความตระหนักในการประเมินสัญญาณสุขภาพจิต เพื่อรู้เท่าทันต่อภาวะสุขภาพจิตของตน กรมสุขภาพจิตจึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเหล่านั้นให้ครอบคลุม โดยจัดโครงการกำแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน เพื่อเป็นที่พักใจให้เยาวชนในกรุงเทพฯ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตคุณภาพสูงผ่านช่องทางออนไลน์ได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมีเป้าหมายให้บริการเยาวชน 2,500 คนในกรุงเทพฯ โดยให้คำปรึกษาออนไลน์ฟรี และยังเป็นการลดภาระในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตของเยาวชน ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิต
พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกำแพงพักใจ กล่าวว่า มูลนิธิกำแพงพักใจใช้ระบบอาสาสมัครให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่เยาวชนผ่านระบบออนไลน์ มีแอปพลิเคชันอูก้า (OOCA) เป็นเครือข่ายสุขภาพจิตออนไลน์ที่มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเครือข่ายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สามารถใช้สิทธิโครงการได้ฟรี ดาวน์โหลดแอปฯอูก้า (Ooca) ได้ที่ https://ooca.co/wos ใช้บริการได้ถึงวันที่ 31 ส.ค.2567.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
...