ข่าวร้อนๆเมื่อไม่นานมานี้ หลายๆคนอาจจะพอจำกันได้...กรณีจอดรถตากแดดมากกว่า 1 ชั่วโมง มีโอกาสไฟลุกภายในรถขึ้นได้...

จากการทดลองในต่างประเทศ พบว่า อุณหภูมิภายนอกที่ร้อนจัด เมื่อรวมกับระยะเวลาที่จอดรถจะทำให้อุณหภูมิภายในรถที่ปิดกระจกทั้งหมดเพิ่มขึ้นเกือบ 20 องศาเซลเซียส...ภายใน 10 นาที

ยังพบด้วยว่า หากอุณหภูมิภายนอกสูงถึง 42 องศาฯแล้วจอดรถโดยปิดกระจกทั้งหมดกลางแจ้งเป็นเวลา 60 นาที จะทำให้อุณหภูมิภายในห้องผู้โดยสารสูงถึง 65 องศาฯ หากจอดรถนานเป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง อุณหภูมิภายในห้องจะสูงมากกว่า 70 องศาฯเลยทีเดียว

ประเด็นควรรู้มีอีกว่า...รังสีความร้อนที่ผ่านกระจกและตัวถังรถเข้ามาภายในจะมีรังสีที่มีความยาวคลื่นทั้งคลื่นยาวและคลื่นสั้น คลื่นยาวของรังสีความร้อนเมื่อผ่านเข้าไปในรถยนต์แล้วจะไม่สามารถแพร่ออกมาภายนอกได้เพราะจะถูกวัสดุต่างๆภายใน เช่น เบาะ คอนโซลและวัสดุอื่นๆดูดกลืนรังสีความร้อนไว้

และ...ปล่อยคลื่นความร้อนแพร่กระจายออกมาภายในรถ ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น รวมทั้งปลดปล่อยสารต่างๆที่เบาะ คอนโซลที่ดูดกลืนไว้ เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ เบนซิน ซึ่งมีจุดวาบไฟประมาณ 64 องศาเซลเซียส ทำให้อาจลุก “ติดไฟ” และ “ไหม้” วัสดุไวไฟใกล้เคียงได้

...

หากมีของใช้ทิ้งไว้ในรถยนต์และจอดตากแดดช่วงนี้มากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป เช่น ขวดพลาสติกที่มีน้ำ, ไฟแช็ก, กระดาษทิชชู, พลาสติกหรือไม้อัดบางๆ, โทรศัพท์มือถือ, แบตเตอรี่สำรอง, แท็บเล็ต, โน้ตบุ๊ก, กระป๋องสเปรย์ หากจอดรถตากแดดที่มีอุณหภูมิภายนอกสูงถึง 40 องศาฯนานมากกว่า 1 ชั่วโมง

...อาจจะทำให้อุณหภูมิภายในรถสูงมากกว่า 65 องศาฯได้ ซึ่งสามารถทำให้วัสดุไวไฟที่ทิ้งไว้ในรถยนต์มีโอกาสติดไฟลุกไหม้ได้

ประเด็นสำคัญมีว่า...การจอดรถยนต์ช่วงนี้ต้องมีที่บังแดดที่กัน

รังสียูวีกั้นกระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เปิดกระจกด้านข้างไว้บางส่วน พยายามหาที่ร่มจอดรถยนต์ รวมทั้งไม่ทิ้งสิ่งของที่เป็นวัสดุไวไฟไว้ในรถยนต์ด้วย...ป้องกันเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ไว้ว่า...อุณหภูมิปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน อาจถึง 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยดูได้จากค่าดัชนีความร้อน ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนความรู้สึกร้อนของร่างกาย จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์

เนื่องจากเมื่อความชื้นสัมพัทธ์สูงจะทำให้เหงื่อระเหยยากและส่งผลให้รู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริงของอากาศ...หากค่าดัชนีความร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จะมีความเสี่ยงเกิดโรคลมแดด หรือ “โรคฮีตสโตรก (Heat Stroke)” ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆในร่างกาย

และ...เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคฮีตสโตรก ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ควรอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงแต่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน จะมีโอกาสเกิดฮีตสโตรกได้เช่นกัน

หากต้องทำงานกลางแจ้ง ควรเลี่ยงการสวมชุดที่มีสีเข้ม เนื่องจากจะดูดซับความร้อนได้ดี ดื่มน้ำมากๆ และสลับเข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ เช่น ทุก 30 นาที หรือทุกชั่วโมง

สำหรับอาการสำคัญของ “โรคฮีตสโตรก” คือ วิงเวียน อ่อนเพลีย ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้น เหงื่อไม่ค่อยออก ผิวร้อน แดง แห้ง หากเริ่มมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็นและดื่มน้ำมากๆ

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ ศีรษะ...ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ

หากปฐมพยาบาลแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทร.แจ้งสายด่วน 1669

...

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า การขาดนํ้าเกลือแร่ เมื่อถึงจุดหนึ่ง...ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองจะแปรปรวน ทําให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาฯ

แทนที่ตัวจะมีเหงื่อกลับแห้ง ตัวร้อนจัด พูดสับสนไม่รู้เรื่อง ซึ่งถ้าถึงระดับนี้จะหมายถึงอาการ “ฮีตสโตรก” (Heat stroke) หรือ “อุณหฆาต” คือถึงตาย

ภาวะนี้จะทําให้ “สมอง” รู้สึกชินชากับ “ความร้อน” ที่ได้รับจนไม่รู้สึกกระหายนํ้า ทั้งๆที่สมดุลนํ้าและเกลือแร่ในร่างกายเสียหายส่งผลให้ระดับความดันเลือดตก

“เลือดที่มีนํ้าเป็นส่วนประกอบไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ ทําให้เกิดอาการไตวาย หากเป็นมากๆเซลล์กล้ามเนื้อก็จะเริ่มแหลกสลาย มีของเสียตกตะกอนในไต ทําให้เกิดไตวายซ้ำซ้อนและเสียชีวิตในที่สุด”

นอกจากนี้ความร้อนของอากาศยังขึ้นกับความชื้นในอากาศ ซึ่งป้องกันไม่ให้เหงื่อระเหยระบายความร้อนออกไม่ได้ ทําให้ความร้อนจริงที่ร่างกายต้องเผชิญสูงมากขึ้น ยิ่งอยู่กลางแดดและมีลมร้อนจัด...

...

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความชื้นในอากาศ 60% อุณหภูมิภายนอก 35 องศาฯ การรับรู้ของร่างกายจะกลายเป็น 45 องศาฯ และ...ถ้าอุณหภูมิภายนอก 38 องศาฯ การรับรู้จะกลายเป็น 56 องศาฯ เป็นต้น

ให้รู้ไว้อีกว่าอันตรายที่เกี่ยวกับ “แดด” และ “ความร้อน” (และชื้น) แบ่งระดับความรุนแรงได้ 4 ระดับ ระดับแรก...แดดเผา ผิวบวม แดง ลอก ระดับที่สอง...ตะคริวตามน่อง กล้ามท้อง ระดับที่สาม...เพลียรุนแรง ใกล้จะช็อก ตัวเย็นชืดชื้น ชีพจรเร็วเบา เป็นลม อาเจียน แต่อุณหภูมิร่างกายยังปกติ

ระดับที่สี่...ฮีตสโตรกถือเป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤติ อุณหภูมิร่างกายอาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ผิวแห้ง ร้อน ชีพจรเร็ว แรง อาจหมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิต เหมือนสมองและเครื่องในสุก

ย้ำว่า...การปฐมพยาบาลขั้นต้น ให้ประคบเย็นตามซอกตัว เช็ดตัว พัดลมระบายความร้อน นอนราบ ยกเท้าสูง หลบแดด ผึ่งลม ประคบเย็น และจิบนํ้า

ถ้าอาการหนักมาก การใช้นํ้าเย็นอาจทําให้เกิดตะคริวท้อง ให้นอนราบหรือตะแคง หากอาเจียนร่วมด้วย จำไว้ว่า...การดื่มนํ้าจะทําให้เกิดอันตรายในระดับ 3 และถ้ามีอาการในระดับ 4 ห้ามให้นํ้าดื่มเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายรุนแรงได้

“ระยะนี้การพยาบาลให้นํ้าทางปากอาจเป็นอันตรายได้ ยิ่งถ้าคนสูงอายุมีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับยาดังกล่าวข้างต้น ยิ่งมีอันตรายสูงเข้าไปอีก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า

“อาการก่อนหน้าที่จะถึงขั้นอุณหฆาต...อาจนํามาด้วยตะคริว หรือหน้ามืด เพลีย คลื่นไส้ จะเป็นลม เพราะฉะนั้นให้ดื่มนํ้าบริสุทธิ์มหาศาล อย่างน้อยวันละ 2 ลิตรหรือมากกว่า ข้อสำคัญให้หลีกเลี่ยงนํ้าหวาน นํ้าชา กาแฟ สุรา...ถ้ายิ่งต้องออกไปกลางแดดนานๆ”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม

...