ผมเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วว่า เมื่อวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสนั่งรถตระเวนไปทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะย่านฝั่งธนบุรีที่ช่วงเวลาปกติผมจะผ่านไปน้อยมาก

เหตุผลเพราะการจราจรที่ติดขัดอย่างสาหัสสากรรจ์ในหลายๆพื้นที่เข้าไปแล้วก็ขยาดจนไม่กล้าเข้าไปอีก

แต่สำหรับในช่วงสงกรานต์ซึ่งผู้คนออกไปต่างจังหวัดกันมาก รวมทั้งรถยนต์ด้วย ทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครลื่นไหลอย่างน่าชื่นใจ โดยเฉพาะทางด่วนสายต่างๆที่เขาให้ขึ้นฟรีถึง 3 วันนั้น--กลับมาเป็นทางด่วนที่แท้จริง มิใช่ทางด้วนหรือทางตันขึ้นไปแล้วก็ติดแหง็กอย่างน่าเวทนาในช่วงเช้าช่วงเย็นในทุกๆวันทำงานอย่างที่เห็น

นอกจากฝั่งธนบุรีที่เขียนถึงไปแล้ว ผมยังมีโอกาสข้ามสะพาน “ภูมิพล 1”-“ภูมิพล 2” ไปทางฝั่งพระประแดง แล้วกลับมาถึงปู่เจ้าสมิงพรายเข้าสู่ตัวเมืองสมุทรปราการ หรือปากน้ำวนไปเวียนมาหลายรอบ

ผมไม่ได้ไปบางปูมานานแล้วก็บอกให้ลูกๆขับรถไปวนผ่านชะแง้ดูด้วยความคิดถึงเสียหนึ่งรอบ โดยไม่ได้หยุดแวะเหมือนครั้งก่อนๆ

จากนั้นก็ขับไปเรื่อยๆตามถนนสายสุขุมวิทเก่าที่เมื่อ 50-60 ปีก่อน ตอนยังไม่มีถนนบางนา-ตราด ยังไม่มีทางด่วนบูรพาวิถี หรือเส้นทางมอเตอร์เวย์ที่วิ่งจากวังน้อยอยุธยามาทางสุวรรณภูมิไปจนถึงชลบุรี บางแสน พัทยา ฯลฯ นั้น ก็ต้องอาศัยถนนสุขุมวิทที่ผ่านปากน้ำนี่แหละครับเวลาเราจะไปตากอากาศหรือเล่นน้ำทะเลแถวๆชายฝั่งตะวันออก

ทุกวันนี้ถนนสายนี้ช่วงที่ผ่านปากน้ำเขาก็สร้างใหญ่โตมาก ใหญ่กว่ายุคเป็นถนนสุขุมวิทวิ่ง 2 เลนสวนไปมายุคก่อนหลายเท่า

ต้องขอแสดงความยินดีแก่พี่น้องชาวสมุทรปราการด้วยครับที่ทุกสิ่งทุกอย่างเจริญอย่างผิดหูผิดตา นอกจากจะมีถนนสวยๆตึกใหญ่ๆใหม่ๆ โดยเฉพาะศูนย์ราชการใหม่ที่ออกไปอยู่นอกเมืองดูใหญ่โตกว้างขวาง...ก็ยังมีรถไฟฟ้ามาให้บริการถึง 2 สาย

...

ได้แก่ BTS หรือสายสีเขียว ที่ไปสุดทางเกือบถึงฟาร์มจระเข้ที่เปิดใหม่ก่อนสงกรานต์เพียงไม่กี่วัน ส่วนสายสีเหลืองก็มาสุดที่สถานีสำโรงซึ่งเป็นเขตปากน้ำเช่นเดียวกัน

ไม่ใช่มีแค่รถแอร์สาย 145 หรือรถเมล์เก่าแก่ที่สุด “ปากน้ำ-ท่าช้าง” (หรือสาย 25 ที่แล่นจากท่าช้าง วังหลวง ผ่านหัวลำโพง ผ่านโรงเรียนเตรียมอุดม ผ่านจุฬาเลี้ยวเข้าสยามสแควร์ผ่านสุขุมวิทไปถึงพระโขนงบางนาแล้วก็ปากน้ำที่มีมาก่อน พ.ศ.2502)...เท่านั้น

แต่ก็นั่นแหละครับแม้จะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ...ผมก็ไม่วายที่จะรู้สึกเสียดายตึกเก่าๆที่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า ปิดประตูเงียบเชียบเหมือนไม่มีคนอยู่อาศัย และแขวนป้ายบอกขายหรือให้เช่า ที่มีอยู่หลายๆจุดในสมุทรปราการ

เช่นเดียวกับใน กทม.ทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งกรุงเทพฯ ที่แม้จะมีตึกใหญ่ระฟ้าเกิดขึ้นจำนวนมาก และรถไฟฟ้าโผล่ผุดขึ้นหลายสาย แต่ก็จะมีตึกเก่าตะไคร่น้ำขึ้นปิดประตูตายเป็นแถบๆ และกลายเป็นที่แสดงฝีมือของศิลปินมือซนที่ชอบวาดภาพเขียนภาพและเขียนข้อความพิลึกกึกกือต่างๆทั้งหน้าบ้านหน้าห้องแถวร้างทั่วกรุงในปัจจุบันนี้

ตระเวนรอบกรุงและปริมณฑล 3-4 วันที่ผ่านมานี้ผมก็ยิ่งเห็นภาพที่ขัดแย้งกันเช่นว่านี้...คือ “ใหม่”-สวย-อลังการ-เคียงคู่ไปกับ “เก่า” รกรุงรังและปิดตายระบายสีเปรอะเปื้ยนเต็มไปหมด

ผมลองมานั่งนึกดู “แผลเป็น” จากการลงทุน จากการก่อสร้างต่างๆเหล่านี้ ทั้งประเทศไทยน่าจะมีไม่น้อย เพราะเห็นอยู่ทุกจังหวัด นับเป็นความสูญเสียในทางเศรษฐกิจที่มหาศาล และน่าเสียดายอย่างยิ่ง

มีใครลองคิดลองประเมินกันบ้างไหมหนอว่า มูลค่าการสูญเสียเหล่านี้มากน้อยเพียงไร สำหรับประเทศไทย

โดยหลักการแล้ว การพัฒนาหรือความเจริญที่ดีที่สุดก็คือ การใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทั้งของใหม่ๆและของเก่าๆไปพร้อมกัน...มีของใหม่เกิดขึ้น ของเก่าก็ยังอยู่ได้ อาจโทรมไปบ้างก็ยังมีการปรับปรุงแก้ไขและอยู่ต่อไปได้ โดยไม่กลายเป็นตึกรกร้างว่างเปล่าเช่นที่เห็นอยู่

ก็ฝากเป็นข้อคิดเอาไว้ด้วยนะครับ สำหรับการพัฒนาในอนาคต

เมื่อก่อนผมนึกว่า ความสูญเสียที่ว่านี้เกิดขึ้นเฉพาะถนนลาดพร้าวที่ผมต้องนั่งรถผ่านมาทำงานที่ไทยรัฐเท่านั้น แต่จากวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ ทำให้ผมพบความจริงว่า ความสูญเสียประเภท “ใหม่เจริญเก่าเจ๊ง” นั้นเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงใน กทม.และปริมณฑล...มากบ้างน้อยบ้าง... ขึ้นอยู่กับว่าที่ไหนจะมากกว่ากันเท่านั้นเองครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม