คนไทยยังสนุกสนานชุ่มฉ่ำกับการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ต่อเนื่อง หลายจังหวัดจัดงานใหญ่ปล่อยให้เล่นน้ำกันได้เต็มที่ ขณะที่บางส่วนเริ่มเก็บกระเป๋าเดินทางกลับเข้ากรุง สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน 4 วันของเทศกาลสงกรานต์ยังพุ่งต่อเนื่อง เกิดอุบัติเหตุรวม 1,259 ครั้ง ตาย 162 ศพ เจ็บรวมกว่า 1.2 พันคน ส่วนใหญ่จากสาเหตุเดิมๆ “ขับเร็ว-เมาแล้วขับ” กทม.ยังครองแชมป์ “ตายสะสม-คดีเมาขับ” ด้าน รฟท.-บขส.สั่งเสริมรถเข้ากรุง มั่นใจไม่ทำให้มีผู้โดยสารตกค้าง

ช่วงส่งท้ายของการหยุดยาวเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทย ประจำปี 2567 ที่ผู้คนทยอยเดินทางกลับเพื่อเตรียมตัวทำงานตามปกติ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุ 317 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 311 คน ผู้เสียชีวิต 38 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (11-14 เม.ย.2567) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,259 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,279 คน ผู้เสียชีวิตรวม 162 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของ ศปถ.ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.22 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.87 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 15.46 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 87.51 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.76 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 35.65 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.33 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 7.57 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 20.92 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,763 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,529 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน 14 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน 16 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 3 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 50 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 54 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและร้อยเอ็ด 10 ราย

...

ขณะที่นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี และเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา (11-14 เม.ย.2567) แม้จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา แต่ ศปถ.ยังขอกำชับให้จังหวัดป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องและจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าในช่วงวันที่ 15-17 เม.ย.2567 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ทำให้ถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน ขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ

ต่อมา พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการจราจรและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้กำชับในที่ประชุมให้ทุกกองบัญชาการเร่งรัดผลการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตให้ได้รับผลการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้พิสูจน์ทราบในการประกอบพยานหลักฐานทางกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ขับขี่เด็กเยาวชนที่มึนเมาสุรา กำชับให้ทุกหน่วยทำบัญชีกลุ่มเสี่ยงพร้อมทั้งวางแนวทางการปฏิบัติลดวงจรการเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน กวดขันตรวจสอบผู้ขับขี่ที่เป็นเยาวชน หากพบให้บูรณาการกับผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น ติดต่อให้ผู้ปกครองมารับตัวเยาวชนและยานพาหนะกลับ ส่วนการจับกุมในคดีเมาแล้วขับสะสม 3 วัน รวม 15,859 ราย สถิติสูงสุดอยู่ในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ในพื้นที่ของตำรวจภูธรภาค 3 จำนวน 4,305 คน รองลงมาในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 4 จำนวน 3,483 ราย

ด้านนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติในวันที่ 14 เม.ย. ว่า มีทั้งสิ้น 2,136 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 2,106 คดี และคดีขับเสพ 30 คดี สำหรับยอดรวมสะสม 4 วัน ของ 7 วันอันตราย มี 3,890 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 3,737 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.07 คดีขับรถประมาท 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.08 คดีขับเสพ 150 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.85 โดยกรุงเทพมหานครมีคดีเมาขับสูงสุด 399 คดี ตามด้วย จ.นนทบุรี 227 คดี และ จ.สมุทรปราการ 214 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติในวันที่ 4 ของ 7 วันอันตรายปี 2566 พบว่าคดีขับรถขณะเมาสุรา 315 คดี และปี 2567 จำนวน 2,106 คดี เพิ่มขึ้น 1,791 คดี

ขณะเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยสถิติอุทยานแห่งชาติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ว่า วันที่ 12-14 เม.ย. มีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานฯ ทั้งหมด 476,482 ราย เงินรายได้ 21,844,540 บาท อุทยานแห่งชาติที่มีนักท่องเที่ยวสะสมสูงสุด ได้แก่ อุทยานฯตาดโตน จ.ชัยภูมิ 34,333 คน อุทยานฯเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง 22,975 คน อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ 22,205 คน อุทยานฯเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา 18,392 คน อุทยานฯ เอราวัณ จ.กาญจนบุรี 17,964 คน นอกจากนี้ มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุภายในอุทยานฯ รวม 49 ครั้ง บาดเจ็บ 59 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

...

สำหรับบรรยากาศการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ในวันที่ 15 เม.ย. หรือวันเถลิงศก ที่ถือเป็นวันเริ่มศกใหม่ หรือบางพื้นที่เรียก “วันพญาวัน” ปรากฏว่าตลอดช่วงเช้าตามวัดวาอารามและจุดที่ทางการกำหนด มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินำอาหารสดอาหารแห้งออกมาทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ สรงน้ำพระพุทธรูปขอพรพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลรับศกใหม่ อาทิ ที่วัดศรีบุญชุม อ.แม่ใจ จ.พะเยา ที่มีพิธีดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ลอดซุ้มตาแหล๋วยักษ์ และดำหัวใส่ต้นโพธิ์ ตามประเพณีความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เช่นเดียวกับที่วัดกู่ม่านมงคลชัย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ชาวไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ พากันเข้าวัดทำบุญตั้งแต่เช้า และร่วมทำบุญปักตุงกองเจดีย์ทราย ขณะที่ วัดหนองแวงพระอารามหลวง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีสาธุชนเข้ามากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระมหาธาตุแก่นนคร เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต ส่วนที่วัดอุสภาราม (บางวัว) ชาวตำบลบางวัวจัดขบวนแห่องค์หลวงพ่อน้อยและองค์หลวงพ่อดิ่ง แห่ไปถนนจรัญญานนท์ ให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระ พร้อมกับเล่นสาดน้ำกันด้วยความสนุกสนาน

ขณะเดียวกัน หลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพ มหานครยังคงเปิดโอกาสให้เล่นสาดน้ำได้ต่อเนื่องในถนนข้าวสารมีหนุ่มสาวนำอุปกรณใส่น้ำ ทั้งปืนฉีดน้ำ ถังหลากหลายขนาดใส่น้ำออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน อาทิ ที่รอบคูเมืองเชียงใหม่ ถนนท่าแพ ถนนลอยเคราะห์ ประตูช้างเผือก ยาวไปจนถึงบริเวณแจ่งศรีภูมิ และบริเวณแจ่งกู่เฮือง ต่างเนืองแน่นไปด้วยผู้คนและรถกระบะออกมาเล่นน้ำเป็นจำนวนมากจนการจราจรติดขัด รวมไปถึงที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ทางเขื่อนได้ปล่อยน้ำให้ลงเล่นน้ำบริเวณจุดปากทางน้ำไหลออก ซึ่งมีประชาชนนับพันลงไปเล่นน้ำคลายความร้อนและวิดน้ำขึ้นสาดกันอย่างสนุกสนาน เช่นเดียวกับที่ จ.นครราชสีมา ทั้ง 32 อำเภอ ลูกหลานชาวเมืองย่าโมออกมาเล่นสาดน้ำกันต่อเนื่อง ที่ถนนราชดำเนิน หรือถนนขั่วหมี่ นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติสวมเสื้อลายดอกพร้อมถือปืนฉีดน้ำแห่ออกมาเล่นสงกรานต์กันอย่างคึกคัก ขณะที่รอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีก็เต็มไปด้วยรถกระบะที่บรรทุกถังน้ำหลั่งไหลมาจากต่างอำเภอ เพื่อมาเล่นน้ำสงกรานต์ในตัวเมือง

...

ทั้งนี้ บรรยากาศการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร วันสุดท้าย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเที่ยงเป็นต้นมานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาร่วมสนุกกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงเย็นค่ำ ปริมาณผู้คนหนาแน่นเต็มพื้นที่ทั้งในถนนข้าวสารและบริเวณพื้นที่รอบนอก เจ้าหน้าที่ ตำรวจสนธิกำลังกับเทศกิจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและอาสาสมัคร ร่วมตั้งจุดคัดกรองตรวจตราเข้มงวดโดยใช้เทคโนโลยีระบบ AI เพิ่มศักยภาพให้กล้อง CCTV จดจำใบหน้าบุคคลที่เดินผ่านไปมา บอกข้อมูลประวัติบุคคลให้ตำรวจที่นั่งประจำการอยู่ตรวจสอบ รวมทั้งวิเคราะห์ความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันความแออัดจนเกินปริมาณที่รับได้ นอกจากนี้ยังมีการเปิดช่องทางฉุกเฉินให้เข้าออกได้อีก 6 จุดภายในถนนข้าวสาร ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาต่างนำปืนฉีดน้ำหลากรุ่นหลายขนาดฉีดน้ำสาดใส่กัน พร้อมเต้นรำตามจังหวะเสียงเพลงเร้าใจกันแบบสุดเหวี่ยง โดยมีกำหนดยุติการจัดงานในเวลาประมาณ 22.00 น.

เช่นเดียวกับโดยรอบท้องสนามหลวง ที่มีการจัดงานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ เป็นวันสุดท้าย ตั้งแต่บ่ายถึงค่ำสภาพการจราจรโดยรอบท้องสนามหลวงยิ่งเนืองแน่นไปด้วยรถกระบะและจักรยานยนต์ที่พร้อมเข้ามาเล่นสาดน้ำกันให้ชุ่มฉ่ำก่อนหมดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

...

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลายพื้นที่ยังจัดให้เล่นสาดน้ำได้อยู่ แต่ตามสถานีขนส่งและสถานีรถไฟ เริ่มมีผู้คนหอบหิ้วกระเป๋าสัมภาระเข้ามารอซื้อตั๋วเพื่อเดินทางกลับหลังใกล้หมดวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีประชาชนและนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางออกจากเกาะสมุย นำรถมารอคิวเพื่อลงเรือโดยสารไปฝั่ง อ.ดอนสัก เป็นจำนวนมาก

ขณะที่บรรยากาศบนถนนสายหลักที่มุ่งหน้าเข้า กทม.ทั้งถนนมิตรภาพ จากภาคอีสาน ช่วง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี จากหลัก กม.ที่ 39 ลงมาจาก ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นคราชสีมา เป็นเส้นทางลงเนินเขากลางดง บางเวลามีรถเต็มพื้นที่ ตำรวจทางหลวง อ.ปากช่อง เปิดเส้นทางพิเศษลงมาจาก กม.ที่ 57-47 ในขณะที่ ช่วง อ.มวกเหล็ก ยาวถึง อ.แก่งคอย เข้าตัวเมืองสระบุรีรถหนาแน่นเต็มทุกช่องทาง ขณะที่ถนนสายพหลโยธินขาเข้า กทม. ช่วง ต.หินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี ตลอดช่วงบ่ายถึงค่ำ ปริมาณรถกลับมาหนาแน่นขึ้น ตำรวจทางหลวงหินกองสระบุรีเปิดช่องทางพิเศษขาเข้า กทม. จำนวน 8 เลน โดยเปิดจากหลัก กม.ที่ 99 ถึง 71 เขตอ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

ด้านถนนสาย 304 ตั้งแต่พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เข้าสู่ อ.นาดี และ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ตลอดช่วงเย็น ประชาชนทยอยเดินทางกลับเข้ามาทำงาน ส่งผลให้ปริมาณรถเริ่มมากขึ้นแต่ยังสามารถใช้ความเร็วได้

ส่วนที่สถานีรถไฟ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ตลอดทั้งวันคนไทยและชาวต่างชาติทยอยเดินทางจากจังหวัดต่างๆกลับเข้า กทม.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขบวนรถทางไกล อาทิ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ หนองคาย-กรุงเทพฯ อุดรธานี-กรุงเทพฯ เด่นชัย-กรุงเทพฯ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงขนสัมภาระและสิ่งของต่างๆ รวมถึงข้าวสารอาหารแห้งกลับมาเป็นเสบียงลดค่าครองชีพใน กทม. ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าในช่วงวันสุดท้ายของวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยงใช้บริการรถไฟเดินทางเข้ากรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก ได้จัดขบวนรถเสริมในหลายเส้นทางเพื่อไม่มีผู้โดยสารตกค้าง

ด้าน นายอรรถวิท รักจำรูญ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ในการเดินทางเที่ยวกลับ ช่วงวันที่ 15-17 เม.ย. คาดว่าประชาชนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เฉลี่ยวันละ 66,000 คน บขส.ได้จัดรถโดยสารให้เพียงพอประมาณ 4,000 เที่ยว พร้อมกำชับไปยังนายสถานีเดินรถทั่วประเทศเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ได้รับบริการที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ไร้รอยต่อ ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ สามารถเลือกลงจุดจอดที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อเดินทางต่อด้วยรถไฟ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีแดง หรือรถโดยสาร ขสมก. หรือเลือกมาลงที่สถานีขนส่ง (หมอชิต 2) มีบริการจุดจอดรถแท็กซี่ และเชื่อมต่อการเดินทางกับรถโดยสาร ขสมก.ได้เช่นกัน

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่