ด่าน อย.ตรวจ-จับ-ยึดของกลางจากการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้า

หลายต่อหลายครั้งที่มีข่าวการลักลอบนำเข้าสินค้า อาหาร ยา ทั้งด่านทางบก ท่าเรือ และท่าอากาศยาน และยังมีที่ไม่เป็นข่าวก็ยังมีอีกจำนวนมาก

ภารกิจดังกล่าวเป็นของ กองด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจจับการลักลอบนำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารและยา เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการคุ้มครองผู้บริโภค นั่นเอง

ดร.วัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผอ.กองด่านอาหารและยา เล่าถึงภารกิจและการปฏิบัติหน้าที่ว่า กองด่านอาหารและยากำหนดภารกิจที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ อย. ที่จะเป็น องค์กรชั้นนำของอาเซียน ในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ

โดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญคือ 1.ควบคุม ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายหรือมีอันตรายต่อผู้บริโภค 2.อำนวยความสะดวกการค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างประเทศ และ 3.ศึกษาวิจัย พัฒนาระบบการตรวจสอบและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยึดหลักการทำงานว่า “CHANGE for the BETTER” หรือ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ทั้งด้านการสื่อสาร, การพัฒนาบุคลากร, ปรับโครงสร้าง, สร้างเครือข่าย, การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และงานบริการแบบ e-Service ปัจจุบัน อย.มีด่านอาหารและยา 52 ด่าน อยู่ในกำกับของ อย. 28 ด่านและในกำกับของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 24 ด่าน ภาพรวมปี 2566 ด่าน อย.มีการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีใบขนส่งสินค้า 239,212 ใบ รวม 1.6 ล้านรายการ มูลค่า 439,884 ล้านบาท สามารถตรวจและปล่อยสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง 89% ตรวจปล่อยภายใน 48 ชั่วโมง 6% ตรวจปล่อยเกิน 48 ชั่วโมง 5% สุ่มตรวจสัมภาระผู้เดินทาง เข้าประเทศ ปี 2566 จำนวน 114,024 คน ตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์ ปี 2566 จำนวน 21,643 ชิ้น รวมทั้งตรวจจับผู้กระทำผิดลักลอบนำเข้ายาเสพติด และยาผิดกฎหมาย
อีกจำนวนมาก”

...

“กองด่านอาหารและยาวางแผนปฏิบัติการ 5 เรื่อง หรือ 5S ได้แก่ Speed ลดระยะเวลาการตรวจปล่อยสินค้า ที่ด่านอาหารและยา, Safety มีระบบการจัดการความเสี่ยงในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ, Satisfaction มอบอำนาจจากส่วนกลาง พิจารณาอนุญาตก่อนการนำเข้า e–Submission, Supporter
ผู้ประกอบการนำเข้ารับการประเมิน GIP Plus และ Sustainability ความยั่งยืนโดยลดการใช้กระดาษ ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีแผนระยะยาวในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.นำเข้า–ส่งออก ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เนื่องจากด่านเวลาตรวจสินค้า ต้องใช้กฎหมายตามผลิตภัณฑ์ สุขภาพนั้นๆ ต้องเข้ากรรมการ แต่ละชุด เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย กว่าจะตั้งด่านได้ใช้เวลามากกว่าครึ่งปี ซึ่งหากมีกฎหมายนี้ ก็จะสามารถทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้นทันสถานการณ์มากขึ้น โดยกำหนด วิธีการตรวจของด่าน อย.ได้เอง มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่ด่านดำเนินการตรวจปล่อยสินค้า ซึ่งคาดว่าจะจัดทำภายในปี 2571” ดร.วัฒนศักดิ์เล่าถึงแผนการที่เตรียมไว้

ขณะที่ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา มองถึงแนวทาง การพัฒนากองด่านอาหารและยา ว่า อย.มีแผนที่จะยกระดับการทำงานของกองด่านอาหารและยา ให้เป็น One–ด่าน One–Lab One–Day เนื่องจากขณะนี้เราใช้ระบบกักกัน เมื่อสินค้ามาถึงด่านก็จะมีการสุ่มตรวจเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาทำการทดสอบเบื้องต้นที่ห้องปฏิบัติการของด่าน เช่น ด่านอาหารและยาท่าเรือน้ำลึกสงขลา ตรวจสารตกค้างในอาหาร เช่น บอแรกซ์ สารฟอกขาว สีสังเคราะห์ในชา แต่สารที่ตกค้างมีอีกหลายตัวก็จะส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ในพื้นที่ใช้เวลา 3–7 วัน แต่กรณี ผัก ผลไม้ สินค้าเกษตร เรากักนานไม่ได้ สินค้าจะเสียหาย จึงมีแนวคิดจัดทำ One–ด่าน One–Lab One–Day ต้องลงทุนทั้งเครื่องตรวจ สถานที่ จึงได้หารือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทำการวางผังข้อมูลศูนย์วิทย์รวมถึงห้องแล็บเอกชน ว่าแต่ละด่านอาหารและยา มีศูนย์วิทย์อยู่ห่างแค่ไหน และดูความเป็นไปได้ว่าจะสามารถจ้างเอกชนได้หรือไม่ รวมถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการที่ด่านอาหารและยาเลย โดยต้องมองทั้งระบบการทำงานของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายปี 2567

...

เลขาธิการ อย. ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายระดับชาติ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยติดต่อคู่ค้าต่างประเทศกับเรา แต่หากเรายึดสุขภาพของประชาชนคนไทยเป็นหลัก และผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้นสินค้าที่นำเข้ามาจะต้องเป็นของที่ปลอดภัย และวางเงื่อนไขต่างๆ เพื่อจะได้บอกคู่ค้าให้ปฏิบัติตาม เหมือนกับเวลาที่เราส่งสินค้าไปต่างประเทศก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ประเทศนั้นๆกำหนด ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องอาหารปลอดภัย

...

“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่าการยกระดับศักยภาพของด่านอาหารและยา เป็นเรื่องจำเป็น และต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ผัก ผลไม้ ยา ที่มาถึงมือผู้บริโภค เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง รวมทั้งการยกร่างกฎหมายนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อกำหนดวิธีการตรวจอาหารและยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเท่ากับช่วยติดอาวุธในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

เพื่อให้สุขภาพคนไทย เป็นวาระแห่ง ชาติที่ไม่ใช่หน้าที่ของใครหรือหน่วยงานใดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันผลักดันให้เป็นจริงในทุกมิติอย่างยั่งยืน.

...

ทีมข่าวสาธารณสุข

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่