ปัญหาซ้ำซากสำหรับอุบัติเหตุ รถบัส 2 ชั้นที่นับวันยิ่งเกิดขึ้นถี่นำไปสู่ความสูญเสียรุนแรงเกือบทุกครั้งมากกว่า “รถโดยสารทั่วไป” ทำให้ประชาชนใช้บริการต้องแบกรับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดั่งกรณีล่าสุด “รถโดยสารปรับอากาศ 2 ชั้นพลิกคว่ำ” ขณะวิ่งลงสะพานสีมาธานีที่เป็นทางโค้งจนเสียหลักชนป้ายบอกทางถนนมิตรภาพขาออกจากตัวเมืองนครราชสีมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บกว่า 40 ราย สำหรับปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุนี้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า
ปัจจุบันรถบัสโดยสารประจำทาง 2 ชั้นมักเกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นระยะอย่างล่าสุด “รถโดยสารปรับอากาศ 2 ชั้นพลิกคว่ำใน จ.นครราชสีมา” เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า “รถบัส 2 ชั้น” แม้เป็นรถประจำทางที่มีมาตรการดูแลรัดกุมมากเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อหากรถวิ่งด้วยความเร็วก็มีโอกาสเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้เช่นเดิม
ส่วนหนึ่งมาจาก “ระบบ GPS จับความเร็ว” ถูกกำหนดค่าสัญญาณเตือนห้ามใช้ความเร็วเกิน 90 กม./ชม.ซึ่งไม่สอดรับกับพื้นที่ลาดชัน พื้นที่เอียง และเส้นทางโค้งอันตราย ที่มีป้ายจำกัดความเร็ววิ่งไม่เกิน 20-40 กม./ชม.ทำให้รถวิ่งจุดนี้ได้โดยไม่มีสัญญาณการแจ้งเตือนกลายเป็นความเสี่ยงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
...
ทว่าการปล่อยให้รถบัสขนาดใหญ่วิ่งบนถนนลาดชันยังมีความเสี่ยงใช้เบรกถี่จนแรงดันหม้อลมหมด ส่งผลให้เบรกแตกมักนำไปสู่ “การเกิดอุบัติเหตุ” ก่อให้เกิดความสูญเสียรุนแรงตามมามากมายได้อีก
ดังนั้นรถบัสโดยสาร 2 ชั้นควรถูกกำกับอย่างเข้มงวดใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณถนนลาดชันเกิน 7% ตามข้อมูลกรมทางหลวงเคยมีการศึกษาสำรวจพบ “85 เส้นทางเสี่ยงทั่วประเทศ” แล้วเส้นทางนี้รถขนาดใหญ่ไม่ควรวิ่งเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยที่ผ่านมา “ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพ” ทำให้ยังปรากฏพบรถบัส 2 ชั้นวิ่งเป็นปกติ
จริงๆแล้วสำหรับรถบัส 2 ชั้น “ประเทศไทย” นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2550 ทั้งในรถโดยสารประจำทาง และรถโดยสารไม่ประจำทางมีความสูง 4.20-4.30 ม. เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเดินทางครั้งละมากๆ เพราะมีพื้นที่ชั้นล่างทำกิจกรรมขณะเดินทางได้ “ประหยัดงบประมาณไม่ต้องเช่าหลายคัน” ทำให้รถบัส 2 ชั้นมีจำนวนมากมาถึงทุกวันนี้
แต่ในทางวิศวกรรม “รถประเภทนี้” มักมีปัญหาเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง ทำให้ในปี 2556 “กรมการขนส่งทางบก” กำหนดให้รถความสูง 3.6 ม.ขึ้นไปต้องผ่านการทดสอบพื้นเอียง หรือ Tilt test 30 องศา คราวนั้นผู้ประกอบการต่างออกมาค้านจนต้องอนุโลมให้รถบัสสูงกว่า 3.6 ม. จดทะเบียนก่อนปี 2556 ยังไม่ต้องนำรถมาทดสอบ
ทำให้รถประเภทนี้มีอยู่ประมาณ 5,000-7,000 คัน สามารถวิ่งให้บริการทั้งในรถประจำทาง (ประเภท 10) และรถทัศนาจรที่ไม่ประจำทาง (ประเภท 30) แล้วตามที่มีการเก็บข้อมูลล่าสุดรถบัสไม่ผ่านการทดสอบ 2 ใน 3 หรือประมาณ 66% ถูกนำมาใช้ในกลุ่มรถบัสทัศนาจรวิ่งรับงานจ้างเหมานำเที่ยวได้ทั่วราชอาณาจักรแบบไม่ควบคุมเส้นทาง
ผลตามมาคือ “มีการวิ่งบนเส้นทางเสี่ยง 85 แห่ง” ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งอย่างเช่นปีที่แล้วรถบัสนำเที่ยว 2 ชั้น เสียหลักพลิกคว่ำทางลงเนินเขาตับเต่า อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เจ็บกว่า 30 คน
สะท้อนให้เห็น “ระบบกำกับดูแลยังขาดประสิทธิภาพ” จนต้องกำหนดให้รถบัสทุกคันติดตั้ง GPS บอกตำแหน่งรถให้บริการแล้วในปี 2559 “กรมการขนส่งทางบก” ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับรถจดทะเบียนใหม่ต้องสูงไม่เกิน 4 ม. มีผลบังคับใช้ในปี 2560 ในส่วนรถบัส 2 ชั้นเดิมมีความสูงเกินกว่า 4 ม.จะไม่ต่อใบอนุญาตให้อีก
...
ดังนั้นรถบัส 2 ชั้นความสูงเกินกว่า 4 ม. ที่มีอยู่จะสามารถวิ่งให้บริการจนกว่าจะสิ้นสุดอายุใบอนุญาตของแต่ละคันคาดว่าน่าจะหมดในปี 2570 “รถเหล่านี้ก็จะต้องหายจากระบบไปโดยอัตโนมัติ” จึงมีคำถามระหว่างนี้จะมีมาตรการห้ามวิ่งในเส้นทางเสี่ยง 85 แห่ง และกำกับความเร็วตามกายภาพถนนให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร..?
ถ้าเปรียบเทียบกับ “ระบบควบคุมรถบัส 2 ชั้นในต่างประเทศ” ต่างมีมาตรการกำกับดูแลการวิ่งบนถนนเส้นทางเสี่ยงที่ลาดชัน และพื้นที่เอียงเข้มงวดมากอย่าง “มาเลเซีย” ที่เคยมีกรณีรถบัส 2 ชั้นของไทยเข้าไปท่องเที่ยวบนเขาเก็นติ้งไฮแลนด์ และรถพลิกคว่ำบนถนนคาเมรอน ไฮแลนด์-ซิมปัง ปุไลมรผู้เสียชีวิต 26 ราย
นับจากนั้น “มาเลเซีย” ส่งทีมวิชาการสอบสวนสาเหตุแล้วรายงานที่ออกมาทำให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดมาตรฐานรถบัส 2 ชั้น และมาตรฐานเส้นทางห้ามวิ่งด้วยการใช้ GPS ส่งสัญญาณแจ้งเตือนเข้มงวดมาก
แตกแต่งจาก “ระบบกำกับในไทย” มักประกาศเป็นข้อแนะนำห้ามวิ่งเท่านั้น “จึงไม่อาจบังคับลงโทษทางกฎหมายได้” ทำให้มีรถบัส 2 ชั้นวิ่งอยู่บนเส้นทาง 85 จุดเสี่ยงเป็นปกติ แล้วยังสามารถวิ่งได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. ทั้งที่ถนนบริเวณนั้นจำกัดความเร็วอยู่ไม่เกิน 30-40 กม./ชม.ส่งผลให้มักเกิดอุบัติเหตุปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ
เหตุนี้ควรปรับระบบการแจ้งเตือนของ GPS รถโดยสารสาธารณะในการแจ้งเตือนให้เป็นไปตามกายภาพถนนจริงแล้วถ้าหากรถบัส 2 ชั้นเกิดอุบัติเหตุควรทำการสอบสวนโดย “คณะกรรมการอิสระ” เพราะหากใช้เจ้าหน้าที่ในระบบตรวจสอบอาจจะไม่กล้าแตะในเชิงระบบมาก และสรุปผลการสอบลงรายละเอียดเพียงบางส่วน
...
กลายเป็นว่า “แก้ไม่ตรงจุดรากเหง้าปัญหายังอยู่” แต่หากใช้คณะกรรมการอิสระมักจะสามารถตรวจสอบสรุปสาเหตุสำคัญ “นำไปสู่การทบทวนมาตรฐานใหม่” เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้รถโดยสารสาธารณะ
อย่างกรณีทัวร์ 2 ชั้นไทยพลิกคว่ำ “มาเลเซีย” ที่มีส่งทีมวิชาการจากสถาบันไมรอสลงไปสอบสวนจนมีข้อสรุปรายงานนำไปสู่ “การกำหนดมาตรฐานรถบัส 2 ชั้นใหม่ และกำหนดเส้นทางห้ามวิ่งมีหลักเกณฑ์ชัดเจนทั้งประเทศ” นับแต่นั้นปัญหาอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้นในประเทศมาเลเซียก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย
ในส่วนประเทศไทยอย่างกรณี “รถทัวร์ 2 ชั้น” เสียหลักชนต้นไม้ริมถนนเพชรเกษมช่วง กม.ที่ 331-332 อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้โดยสารเสียชีวิตทันที 14 ราย บาดเจ็บ 35 คน ผลสรุปมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่กลับไม่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบมาตรการป้องกันใดๆออกมาใหม่เลยด้วยซ้ำ
ประเด็นน่ากังวลคือ “เทศกาลสงกรานต์ปี 2567” คาดการณ์ว่าประชาชนจะทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 9-12 เม.ย.ใช้บริการรถโดยสารประจำทางเฉลี่ยวันละหลายหมื่นคน ทำให้รถในระบบอาจไม่พอ “ผู้ประกอบการ” ต้องเพิ่มรถเสริมโดยสารไม่ประจำทาง (ประเภท 30) มาวิ่งเสริมในเส้นทางต่างๆ 15-20% จากปกติ
...
ปัญหาว่า “คนขับรถทัศนาจรเหล่านี้มิได้วิ่งเป็นประจำไม่คุ้นชินเส้นทาง” ดังนั้นจะมีวิธีใดตรวจสอบว่าคนขับพร้อมหรือไม่ เพราะรถเสริมบางคันอาจออกวิ่งรับจ้างทั่วไปมาก่อน กลายเป็นพักผ่อนไม่เพียงพอ แถมต้องเจอการจราจรติดขัดช่วงเทศกาลซ้ำอีก ทำให้เกิดการเหนื่อยล้าสะสมนำไปสู่หลับในเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย
ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ “กรมการขนส่งทางบก” ควรต้องมีระบบการดูแลตรวจสภาพรถ และสภาพคนขับให้มีความพร้อม เพื่อเพิ่มความเข้มงวดจัดการความเสี่ยงในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งรถโดยสารประจำทาง และรถเสริมประเภท 30 ทำให้ผู้โดยสารมีความมั่นใจต่อการใช้บริการได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายฝากไว้ว่า “ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567” ที่รัฐบาลพยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์นำอัตลักษณ์ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย “กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ” เปิดโอกาสให้จัดเล่นน้ำ 21 วัน สิ่งนี้มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนามากขึ้น “ส่งผลให้รถโดยสารสาธารณะ” อาจไม่เพียงพอต้องใช้รถเสริมมาช่วย
แล้วในช่วง 2-3 ปีมานี้ปรากฏการณ์พบว่า “พนักงานโรงงานหลายแห่งมักลงขันเหมารถบัส 2 ชั้นเดินทางกลับภูมิลำเนา” ฉะนั้นอยากเห็นรัฐบาลเน้นตั้งหลักกับมาตรการป้องกันความปลอดภัยบนท้องถนนให้ดีๆ เน้นกำกับ 3 กลุ่ม คือ คน รถ และถนน ที่มักเป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด
นี่คือเสียงสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงอุบัติเหตุจากรถบัส 2 ชั้นที่ยังให้บริการ 7 พันคันสามารถนำไปสู่เหตุโศกนาฏกรรมได้ทุกเมื่อหาก “ภาครัฐ” ไม่ปรับเปลี่ยนกลไกการป้องกันให้สอดรับสภาพความเป็นจริง.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม