นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ผมตัดสินใจนอนอยู่บ้านที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยไม่ออกเดินทางไปค้าง หรือท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆเหมือนในอดีต
น่าจะสิบกว่าปีมาแล้วละครับ ที่ผมค้นพบว่า กรุงเทพมหานครในช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่น่าอยู่ที่สุด เพราะพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ จะไปเที่ยวตามจังหวัด หรือไปเที่ยวเมืองนอก ส่งผลให้ถนนในกรุงเทพฯว่างโล่งสามารถเดินทางไปโน่นไปนี่ได้อย่างรวดเร็ว
แม้จะมีการจัดงานหรือเล่นน้ำสงกรานต์กระจัดกระจายทั่วทั้งกรุงเทพฯ แต่เขาก็จะเล่นเป็นจุดๆ เป็นย่านๆ ซึ่งเราจะรู้ล่วงหน้า และขับรถหลบเลี่ยงไม่ผ่านจุดนั้นๆซะ ก็จะไม่เจอปัญหาการจราจรใดๆเลย
แถมทางด่วนทุกสายในเมืองก็จะเปิดให้ใช้ฟรีถึง 3 วัน 13-14-15 เมษายนด้วย ทำให้ทางด่วนกลายเป็น “ทางด่วน” ที่แท้จริง มิใช่ “ทางด้วน” หรือทาง “หวานเย็น” ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง อย่างช่วงเช้าๆ เย็นๆของวันทำงานในปัจจุบันนี้
เมื่อรถในกรุงเทพฯเหลือน้อยลง และไม่มีด่านมาคอยดักเก็บสตางค์ ทำให้รถต้องหยุดชำระเงิน การเดินทางจากบ้านผมที่บางกะปิ ไปเยี่ยมเพื่อนๆ หรือไปหาของอร่อยรับประทาน แถวๆบางแค แถวๆพุทธมณฑล จึงใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเศษๆเท่านั้น
แม้จะมีจุดเสียอยู่บ้าง ที่เพื่อนๆมักจะไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือต่างประเทศกันเป็นส่วนใหญ่ และร้านอาหารอร่อยๆก็มักจะปิดช่วงสงกรานต์ เพราะพนักงานลากลับบ้านกันหมด แต่ผมก็ชอบที่จะขับรถตระเวนไปทั่ว กทม.และปริมณฑลอยู่เสมอๆ ในช่วงวันหยุดสงกรานต์
ปีนี้ผมปักหมุดไว้ที่ “วงเวียนใหญ่” _ธนบุรีครับ เพราะไม่ได้ผ่านมานานมากแล้ว วางแผนไว้ว่าจากบางกะปิจะขึ้นทางด่วนไปข้าม สะพานพระราม 9 หรือสะพานขึง ที่ชาวบ้านมักเรียกสะพานแขวน แล้วก็จะเลี้ยวเข้า ถนนสุขสวัสดิ์ ไปเรื่อยๆ เพื่อดูบรรยากาศของฝั่งธนฯ บริเวณดังกล่าวไปด้วย
...
แม้ตลอดเส้นทางจะมีการก่อสร้างเป็นระยะๆ เพราะกำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีม่วงใต้ จากเตาปูนไปสู่ราษฎร์บูรณะ แต่ด้วยจำนวนรถที่บางตาทำให้การเดินทางของผมกับครอบครัวฉลุยไปตลอด
ติดแยกไฟแดงต่างๆบ้างก็ใช้เวลานิดเดียว เพราะแถวรถยาวไม่กี่คันไม่ต้องรอ 2 ไฟ 3 ไฟ อย่างวันปกติ
โดยเฉพาะก่อนถึง วงเวียนใหญ่ กับช่วงที่ผ่าน วงเวียนใหญ่ ไปแล้ว เช่น สี่แยกบ้านแขก หรือเส้นทางไปขึ้นสะพานพุทธกับสะพานปกเกล้า พื้นที่จราจรลดไปเยอะ เพราะมีเครื่องมือก่อสร้างวางอยู่เต็มไปหมด
ครอบครัวเราก็ยังสามารถใช้เวลาประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ขับรถมาถึงสะพานพระปกเกล้า ที่คู่ขนานสะพานพระพุทธยอดฟ้า ข้ามสู่ย่านพาหุรัดของฝั่งพระนครอย่างสะดวกสบาย
ผมแทบไม่มีโอกาสเดินทางมาบริเวณนี้เลยหลายปี ดังได้กล่าวไว้แล้ว จึงรู้สึกตื่นตาตื่นใจและตื่นเต้นแทนพี่น้องชาวธนบุรีอย่างยิ่ง
สมัยเมื่อ 60 ปีก่อนตอนผมเข้ากรุงเทพฯใหม่ๆ ยังแยกกันเป็นจังหวัดพระนคร กับจังหวัดธนบุรี และมีแม่น้ำเจ้าพระยาขวางกั้นอยู่
ดูเหมือนว่าความเจริญจะอยู่ทางฝั่งพระนครค่อนข้างมาก ทำให้ธนบุรีเหมือนเป็นจังหวัดเล็กๆ (สมัยนี้คือ เมืองรอง ว่างั้นเถอะ) โดนข่มรัศมีเสียเกือบหมด แต่หลังจากรวมกันเป็นกรุงเทพมหานครแล้ว การพัฒนาจึงค่อยๆกระจายข้ามไปทางฝั่งธนบุรีมากขึ้น
ยิ่งช่วงหลังๆนี้ไม่ต้องห่วงเลย รถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้าและใต้ดินพุ่งไปย่านธนบุรีหลายต่อหลายสาย รวมทั้งสาย สีม่วงใต้ ที่จะวิ่งออกจากเตาปูนรอดใต้ดินไปทางรัฐสภาเลี้ยวรอดบางกระบือ บางลำพู ไปสะพานพุทธ วงเวียนใหญ่ สำเหร่ จนสุดท้ายที่สถานีราษฎร์บูรณะ อย่างที่ว่า
เสร็จเมื่อไหร่ พี่น้องชาวฝั่งธนบุรีก็สามารถจะเดินทางแบบขึ้นรถลอยฟ้าและรถใต้ดินไปโน่นนี่สะดวกสบายไม่แพ้ชาว กทม.
ขอบคุณวันหยุดสงกรานต์ 2567 นะครับ ที่ทำให้ผมมีโอกาสตระเวนเข้าสู่บริเวณใจกลางของกรุงธนบุรีได้อย่างครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษๆเท่านั้นเอง
ได้เห็นการพัฒนาและความเจริญเติบโตของฝั่งธนบุรีอย่างเต็มตา แทบจะไม่แพ้ฝั่ง กทม.เลย บางอย่างดูเหมือนจะล้ำฝั่งพระนครไปแล้วด้วยซ้ำ
ย่านบางกะปิบ้านผมยังสู้ไม่ได้เลยครับในช่วงเวลานี้.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม