ยิ่งโลกก้าวไปข้างหน้ายิ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จขององค์กรในปัจจุบันไม่ได้ยึดโยงกับผลประกอบการที่เป็นตัวเลขเสมอไป หากแต่ในโลกยุคใหม่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความสำเร็จ เช่นในเรื่องของ “ความยั่งยืน” ดังที่เราเห็นได้จากหลากหลายองค์กรในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนว่ามีการยกระดับแนวทางดำเนินธุรกิจให้ตอบรับเทรนด์โลกมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะเคยแค่พัฒนาภายใน โฟกัสที่รายได้และตัวเลขที่เห็นได้ชัด สู่การมองหาวิธีที่จะก้าวไปด้วยกันทั้งบริษัทและผู้คนในสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ด้วยการให้ความสำคัญกับรอบด้านอย่างซื่อตรง มีคุณธรรม เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ หนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญในด้านนี้เสมอมา และยังคงไม่หยุดยั้งที่จะสร้างสรรค์แนวทางที่ดีกว่าอย่างต่อเนื่องก็คือทางด้านของ “ซีพี ออลล์ และบริษัทในกลุ่ม” ดังที่ผู้บริโภคสามารถสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับทั้งองค์กรและสังคมอย่างไม่ลดละตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี และสำหรับแนวทางในปี 2567 นี้ ล่าสุด ซีพี ออลล์ และบริษัทในกลุ่ม ได้มีการ “ประกาศทิศทางนโยบายบรรษัทภิบาล 2024” โดยมีใจความสำคัญคือการรวมพลัง “DNA ความดี 24 ชั่วโมง” เพื่อตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล พร้อมเคียงข้างชุมชนด้วยพลังความดี ภายใต้แนวคิด “Giving and Sharing” ไม่เพียงเท่านั้น การดำเนินงานครั้งนี้ยังเป็นการต่อยอดจากแผนกลยุทธ์ด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2564-2573 หรือกล่าวได้ว่านี่คือขั้นต่อไปของการก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต
การประกาศทิศทางนโยบายบรรษัทภิบาล 2024 ในครั้งนี้ ซีพี ออลล์ และบริษัทในกลุ่ม ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยมุ่งเน้นไปที่พนักงาน Store Business Partner (SBP) และคู่ค้า ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของหัวใจหลักของบริษัทซึ่งประกอบด้วยพนักงานรวมกันกว่า 250,000 คน และคู่ค้าลำดับที่ 1 มากกว่า 2,200 ราย โดยนายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ ได้เผยว่า “บริษัทมุ่งมั่นนำเสนอสินค้าคุณภาพและบริการความสะดวกแก่ทุกชุมชน ควบคู่กับการสร้างสรรค์และส่งต่อคุณค่า ตอบแทนคุณประเทศชาติ สังคม ชุมชน พร้อมทั้งต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด ภายใต้คาถาบรรษัทภิบาล ‘ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม’ ”
ทั้งนี้เมื่อมาลองเจาะลึกถึงทิศทางนโยบายซึ่งประกาศภายในงาน จะพบว่า ซีพี ออลล์ ได้มีการวางแผนงานเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้โดยแบ่งออกเป็น 2 กลยุทธ์หลักด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ปลูกฝัง DNA ความดี 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างธรรมาภิบาลจากภายในองค์กร
กระบวนการนี้กล่าวได้ว่าเป็นการยกระดับจากภายใน โดยบริษัทมีการออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อเอื้อให้พนักงานสามารถดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม พร้อมคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน โดยพนักงานทุกคน (100%) จะได้รับการอบรม (Training) ทบทวน (Refresh Training) และผ่านการทดสอบในหลักสูตรธรรมาภิบาล และการต่อต้านทุจริต การพัฒนาความยั่งยืน การบริหารความเสี่ยงด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการมองไปถึงอนาคต ผ่านการวางแผนสร้าง “ผู้นำรุ่นใหม่หัวใจธรรมาภิบาล” หรือ “Mister & Miss Good Governance: MMGG” ซึ่งล่าสุดได้เดินทางมาถึงรุ่นที่ 3 แล้ว โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือการเฟ้นหาตัวแทนจากแต่ละหน่วยงานมาร่วมเป็นกระบอกเสียงเพื่อส่งต่อแนวคิดเรื่องการปฏิบัติงานอย่างมีธรรมาภิบาล นับเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมให้แก่พนักงานอย่างแท้จริง
2. ผนึกกำลังภายนอกองค์กร (Change agent)
ดังที่เราต่างทราบกันดีว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการผนึกกำลังระหว่างองค์กร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และผู้คนในสังคม เหตุนี้จึงเกิดเป็นความตั้งใจที่จะสานพลังสร้างแนวร่วม ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้ากลุ่ม SMEs ในการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจดูแลช่วยเหลือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม ชุมชนที่เกี่ยวข้อง
จากทั้ง 2 กลยุทธ์หลัก เราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงที่น่าสนใจได้ว่านี่คือการเคลื่อนไหวเพื่อจะยกระดับองค์กรและสังคมโดยให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นหลักผ่านการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก โดยสิ่งนี้นับว่าสอดคล้องไปกับจุดแข็งของ ซีพี ออลล์ และบริษัทในกลุ่ม ที่มี “คน” หรือ “พนักงาน” รวมกันถึง 250,000 ชีวิตซึ่งเป็นดั่งตัวแทนองค์กรร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศผ่านร้านกว่า 14,700 สาขา ใน 77 จังหวัด 928 อำเภอ โดยทรัพยากรมนุษย์ของซีพี ออลล์ นับว่าเป็นความภาคภูมิใจขององค์กรอย่างแท้จริงจากการเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ผู้บริโภคต่างไว้ใจและเชื่อมั่น ไม่ว่าจะพนักงานหน้าร้าน พนักงานเดลิเวอรี่ ไปจนถึงคู่ค้าทุกราย จนเกิดเป็นเคสชื่นชมเหล่าพนักงานไม่ขาดสายจำนวนมากกว่า 9,300 เคส และหากจุดแข็งนี้ได้รับการยกระดับไปอีกขั้นด้วยการรวมพลัง “DNA ความดี 24 ชั่วโมง” ก็เชื่อมั่นได้เลยว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นผลดีต่อประเทศโดยรวม เป็นการเติบโตร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืนอย่างแท้จริง
การประกาศทิศทางนโยบายบรรษัทภิบาล 2024 โดยซีพี ออลล์ ครั้งนี้ ได้กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอย่างยิ่ง จากผลลัพธ์ที่สามารถคาดหวังได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในทางบวกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้การให้ความสำคัญกับประเด็นธรรมาภิบาลอย่างจริงจังเป็นสิ่งที่ซีพี ออลล์ ไม่เคยละเลยความใส่ใจ โดยบริษัทได้รับการยอมรับและการการันตีจากองค์กรประเมินมาตรฐานชั้นนำมาโดยตลอด อาทิ ได้รับการประเมินระดับดีเลิศ (Excellence) หรือระดับ 5 ดาว โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ได้รับรางวัล CAC Change Agent Awards จาก CAC ต่อเนื่องถึง 3 ปีซ้อน เป็นต้น เหตุนี้การเดินหน้าอีกครั้งกับ “DNA ความดี 24 ชั่วโมง” จึงนับว่ามีศักยภาพอย่างยิ่งที่จะกลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ในแง่ของการขับเคลื่อนเพื่อรวมพลังสร้างธรรมาภิบาล พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกอย่างยั่งยืน เพื่อวันนี้และอนาคตสืบไป