ช่วง 2 เดือนมานี้ หลายคนคงได้ยินข่าวอันตรายในอาหารที่เกี่ยวโยงกับประเทศไต้หวัน เริ่มจากไต้หวันแบนการนำเข้าพริกและผงหมาล่าที่นำเข้าจากจีน หลังพบสีซูดานเรด (สารก่อมะเร็ง) ปนเปื้อน จนมาถึงการพบ กรดบงเครคิก (bongkrekic acid : BA) ปนเปื้อนในฉ่าก๋วยเตี๋ยวหรือก๋วยเตี๋ยวผัด จนเป็นเหตุให้ผู้ที่บริโภคเสียชีวิต 2 ราย และป่วยอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง กว่า 18 ราย กรดบงเครคิกเป็นสารพิษที่ผลิตโดยแบคทีเรียชื่อ Burkholderia gladioli pathovar cocovenenans (B. cocovenenans) แบคทีเรียชนิดนี้พบได้ตามธรรมชาติ เช่น ในดิน ข้าวโพด ถั่วเหลือง ราขาว
ส่วนสารพิษกรดบงเครคิกมักพบปนเปื้อนในอาหารจำพวกแป้งหมัก ธัญพืชหมัก ผลิตภัณฑ์จากมันฝรั่ง การปนเปื้อนของสารพิษเกิดจากการจัดเก็บอาหารข้างต้นไว้เป็นเวลานานอย่างไม่เหมาะสม ทำให้แบคทีเรีย B. cocovenenans เจริญเติบโตและสร้างสารพิษกรดบงเครคิกปนเปื้อนอยู่ในอาหาร การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากกรดบงเครคิก เคยเกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย โมซัมบิก และจีน โดยพบการระบาดครั้งแรกที่อินโดนีเซียในปี 2438 จากการบริโภคอาหารพื้นเมืองชื่อเทมเป้ บงเครก (Tempe Bongkrek) ผลิตจากการนำผลพลอยได้ของเนื้อมะพร้าวมาทำเป็นเค้กแล้วหมักด้วยรา ในจีนเกิดการระบาดถึง 19 ครั้ง ในช่วงปี 2553-2563 มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษรวม 146 ราย, มีผู้ป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 139 ราย มีผู้เสียชีวิต 43 ราย จากการบริโภคผลิตภัณฑ์แป้งข้าวโพดหมักโฮมเมด ซุปข้าวโพดหมัก ผลิตภัณฑ์แป้งข้าวโพดและมันฝรั่งหวาน ในโมซัมบิกพบผู้ป่วยจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากแป้งข้าวโพดหมักในปี 2558 และล่าสุด 28 มีนาคม 2567 พบผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยในไต้หวันจากการบริโภคฉ่าก๋วยเตี๋ยวหรือก๋วยเตี๋ยวผัดปนเปื้อนกรดบงเครคิก
...
เมื่อผู้บริโภคได้รับสารพิษกรดบงเครคิกเข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะ ง่วงนอน เหงื่อออกมากกว่าปกติ ใจสั่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะไม่ออก ความดันเลือดต่ำ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แขนขาแข็งเกร็ง หายใจลำบาก สมอง หัวใจ ตับ ไตล้มเหลว และเสียชีวิตภายใน 1-20 ชั่วโมง หลังแสดงอาการ การได้รับกรดบงเครคิกเข้าสู่ร่างกายปริมาณเพียง 1-1.5 มิลลิกรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ ที่สำคัญ สารพิษชนิดนี้สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 120 ํ C เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ฉะนั้น ความร้อนที่ใช้ในการหุง ต้ม ปรุงประกอบอาหารปกติจึงไม่สามารถลดปริมาณของสารพิษลงได้ แม้ในไทยจะยังไม่พบรายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากกรดบงเครคิก ก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรเลือกทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากทานไม่หมดควรจัดเก็บไว้อย่างถูกสุขลักษณะ และไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป ส่วนท่านที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวไต้หวัน จีน อาจต้องระมัดระวังการเลือกบริโภค อาหารชนิดใดที่มีข่าวพบการปนเปื้อนก็ควรหลีกเลี่ยง เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวๆ
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร.0-2422-8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่าน "มันมากับอาหาร" เพิ่มเติม