ปัจจุบันการขยายตัวของตลาดมะพร้าวกะทิมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น สามารถซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทำให้มีราคาสูงถึงผลละ 150-250 บาท รวมทั้งมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ฟิล์มห่ออาหาร อุตสาหกรรมยา และอาหารเสริม

ส่งผลผลิตมะพร้าวกะทิ ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากในธรรมชาติมะพร้าว 1,000 ลูก จะพบมะพร้าวกะทิเพียง 1–3 ลูก หรือไม่เกิน 0.3% เนื่องจากพันธุกรรมที่ควบคุมการเกิดเนื้อกะทิ เป็นลักษณะด้อย และสูญเสียความสามารถในการงอกด้วยวิธีปกติ

ดังนั้นคณะนักวิจัยกรมวิชาการเกษตร จึงทำการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิ เพื่อให้พันธุ์แท้ที่ให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิทุกผล ให้ผลผลิตสูง ออกจั่นและเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกเร็ว

หลังจากใช้เวลาในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 26 ปี ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2556 ในที่สุดกรมวิชาการเกษตร ประสบความสำเร็จได้มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ “พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1”

นางสาวปริญดา หรูนหีม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง (ศวพ.ระนอง) กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าทีมวิจัย เผยถึง ลักษณะเด่นของมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1...ให้ผลผลิตทุกผลเป็นมะพร้าวกะทิ

...

เมื่ออายุ 8 ปีขึ้นไปให้ผลผลิตมากกว่า 100 ผล/ต้น/ปี หรือมากกว่า 2,200 ผล/ไร่/ปี น้ำหนักผล 2,032 กรัม (มีขนาดกลาง-ใหญ่) มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เส้นใยอาหารสูง 7.24 กรัม/100 กรัม และไขมันต่ำ 5.78 กรัม/100 กรัม

เริ่มออกจั่นครึ่งหนึ่งเมื่ออายุ 3 ปี 6 เดือน และออกจั่นทุกต้นเมื่ออายุ 3 ปี 9 เดือน...เริ่มเก็บเกี่ยวได้ครึ่งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี 8 เดือน และเก็บเกี่ยวได้ทุกต้นเมื่ออายุ 4 ปี 11 เดือน

สนใจสอบถามรายละเอียดเรื่องพันธุ์เพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร โทร.0-7755-6073 และสวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี โทร. 0-7738-1963.


ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม

...