นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บวท. อยู่ระหว่างหารือร่วม 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อขยายความจุ (Capacity) เส้นทางการบินบนน่านฟ้าระหว่างไทย-จีนเป็น 2 เท่า ปัจจุบันรองรับเที่ยวบินในเส้นทางดังกล่าวอยู่ที่ 100,000 เที่ยวบินต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 เที่ยวบินต่อปี โดยการขยายความจุในเส้นทางการบินดังกล่าว จะศึกษาเส้นทางบินใหม่คู่ขนานกับเส้นทางเดิม คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้ในปี 69 เพื่อรองรับได้ถึงปี 80-81

สำหรับภาพรวมการจราจรทางอากาศในปัจจุบัน เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยในปี 67 บวท.คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบินอยู่ที่ประมาณ 9 แสนเที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่มีเที่ยวบินอยู่ที่ 8 แสนเที่ยวบิน และจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ปกติในปี 68 อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน ส่วนรายได้นั้น คาดว่าปี 67 บวท.จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท และจะกลับสู่สถานการณ์ปกติในปี 68 มีรายได้รวม 1.3 หมื่นล้านบาท และเพื่อให้ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค บวท.จะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ ซึ่งในระยะเร่งด่วน จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับ 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี ภายในระยะเวลา 7 ปี หรือภายในปี 74 โดยคาดว่าจะลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีประมาณ 6,000 ล้านบาท (ปี 68-73)

นอกจากนี้จะปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ (Airspace) ของสนามบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อให้รองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ และสนามบินอันดามัน กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปาง และสนามบินล้านนา ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทยมีศักยภาพ กำหนดการขึ้นลงได้อย่างแม่นยำ พร้อมขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน เทียบเท่ากับลอนดอน.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่