นางสาวฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook เจ้าของแอปพลิเคชัน Whoscall แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก และป้องกันสแปมสำหรับสมาร์ทโฟน เปิดเผยว่า จากรายงานล่าสุดพบว่าคนไทยมีความเสี่ยงสูงสุดในเอเชียที่จะถูกหลอกลวงผ่านทางข้อความและโทรศัพท์ เพราะมิจฉาชีพมีเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ จากรายงานประจำปี 66 พบว่าคนไทยเป็นเหยื่อข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) หลอกลวงมากที่สุดในเอเชีย จำนวน 58 ล้านข้อความ ซึ่งมีตั้งแต่แนบลิงก์ปลอม ลิงก์ขอล็อกอินปลอม การดาวน์โหลดมัลแวร์อันตราย และเพจปลอมหลอกขายของหลอกลวง โดยกลโกงมักเกี่ยวข้องกับการให้เงินกู้และเว็บพนันมากที่สุด อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมกรณีหลอกลวงในเอเชีย ข้อมูลปี 66 ระบุมีการหลอกลวงทั้งจากสายโทรเข้าและข้อความเอสเอ็มเอสรวม 347.3 ล้านครั้ง ลดลงจากปีก่อนหน้า 14% และลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพราะความตระหนักรู้ร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชน
ขณะที่เทรนด์การหลอกลวงในเอเชียดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่ปี 66 คนไทยกลับเสี่ยงโดนหลอกจากสายโทรเข้าและเอสเอ็มเอสรวม 79 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 18% จาก 66.7 ล้านครั้งในปี 65 โดยจำนวนสายโทรเข้ามีทั้งสิ้น 20.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 22% จาก 17 ล้านครั้งในปี 65 และข้อความหลอกลวง 58.3 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้น 17% จาก 49.7 ล้านข้อความในปี 65 “โดยเฉลี่ยคนไทย 1 คน จะได้รับเอสเอ็มเอสต้องสงสัย 20.3 ข้อความ มากที่สุดในเอเชีย อันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ 19.3 ข้อความ และฮ่องกง 16.2 ข้อความ แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปัญหานี้กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาค”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่
...