“ความหลากหลายทางชีวภาพของแหนเป็ดในประเทศไทย 4 สกุล ได้แก่ ผำ แหนเป็ดใหญ่ และแหนเป็ดเล็ก รวมทั้งจุลินทรีย์ร่วมอาศัยกับแหนเป็ด มีคุณสมบัติคือ มีวิตามินสูง ประกอบด้วยวิตามินหลายชนิด รวมทั้งสาร ประกอบต่างๆที่สำคัญ มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคต่างๆ ขณะเดียวกันการที่จุลินทรีย์อยู่ร่วมกันเป็นฮอโลไบออนต์ ทำให้แหนเป็ดเจริญเติบโตได้ดีขึ้น เหมาะที่จะผลิตจำนวนมากเป็นชีวมวล เพื่อมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเป็นอาหารเชิงหน้าที่ของมนุษย์ และอาหารเสริมในสัตว์ เช่น ไก่ หมู นอกจากนี้ยังมีโปรตีนและแป้งสูง สามารถหมักเป็นแก๊สมีเทน และนำไปบำบัดน้ำเสีย หลังจากบำบัดน้ำเสียแล้วเศษเหลือก็สามารถทำเป็นส่วนประกอบส่วนผสมของพลาสติกชีวภาพได้”

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายถึงข้อดีแทบจะครอบจักรวาลของแหนเป็ด ที่เป็นได้ทั้งอาหารคน สัตว์ บำบัดน้ำเสีย ก๊าซมีเทน ที่สำคัญการเพาะเลี้ยงแหนเป็ด สามารถทำได้ทุกพื้นที่เป็นอีกทางเลือกสำหรับเกษตรกร ที่จะนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ หากรัฐบาลส่งเสริมด้านการตลาด...จากคุณประโยชน์นานาประการจึงเกิดโครงการความร่วมมือวิจัยแบบบูรณาการ เรื่อง การพัฒนาคุณค่าทรัพยากรแหนเป็ดฮอโลไบออนต์สู่เศรษฐกิจ BCG ระหว่างทีมนักวิจัยไทยและญี่ปุ่น

...

ฝ่ายไทยประกอบไปด้วยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค), ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค), ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ส่วนฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยฮอกไกโด, มหาวิทยาลัยโอซากา, มหาวิทยาลัยเกียวโต, มหาวิทยาลัยโทโฮกุ, มหาวิทยาลัยยามานาชิ และสถาบันศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนโดย Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS), Japan International Cooperation Agency (JICA) และ Japan Science and Technology Agency (JST)

ภายใต้วงเงิน 300 ล้านเยน ในระยะเวลา 5 ปี (2564–2569) โดยมีหัวหน้าโครงการวิจัยหลักประเทศญี่ปุ่น คือ Prof. Masaaki Morikawa มหาวิทยาลัยฮอกไกโด และประเทศไทยคือ ศ.ดร.อรินทิพย์ ธรรมชัยพิเนต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า จากงานวิจัยร่วมกันดังกล่าว จึงก่อกำเนิด ศูนย์วิจัยทรัพยากรแหนเป็ดฮอโลไบออนต์ (Duckweed Holobiont Resource & Research Center; DHbRC) ตั้งอยู่ชั้น 2 อาคารวิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทีมวิจัยจะใช้เป็นศูนย์วิจัยทดลอง เก็บรวบรวมพันธุ์แหนเป็ดและจุลินทรีย์ รวมของผู้เชี่ยวชาญทางด้านแหนเป็ดของไทยและญี่ปุ่น โดยมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอย่างครบครัน มีระบบเลี้ยงแหนเป็ดแบบ plant factory ที่ทันสมัย มีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนไทย ได้แก่ ADGreen และญี่ปุ่น ได้แก่ Saraya

ขณะเดียวกันจะสำรวจ ศึกษาความสัมพันธ์ทางนิเวศวิทยาและกายภาพ วิเคราะห์จีโนม ไมโครไบโอม และอธิบายกลไก และปฏิสัมพันธ์ระหว่างแหนเป็ด จุลินทรีย์ และสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีโอมิกส์และชีวสารสนเทศ เพื่อให้ได้จุลินทรีย์ที่ส่งเสริมให้แหนเป็ดเจริญดี เพิ่มชีวมวล สะสมโปรตีนสูง ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และเพิ่มสารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ วิตามิน แคโรทีนอยด์ ฟลาวานอยด์ เพื่อนำมาใช้พัฒนาเป็นอาหารเชิงหน้าที่ของมนุษย์ และเพิ่มคุณค่าอาหารสัตว์ และพร้อมจะสนับสนุนองค์ความรู้และถ่ายทอดลงสู่ชุมชนในอนาคต ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ 7th International Conference on Duckweed Research and Application (ICDRA) ที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายนนี้ อีกด้วย.

...

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม