"ธรรมนัส" เตรียมชงโครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" เสนอ นบข. ช่วยเกษตรกรใช้ปุ๋ยคุณภาพราคาถูก หนุนลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรไทย
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 67 ที่กรมชลประทาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เข้าร่วม ว่า ข้าวเป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศในหลายมิติ ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยส่งออกข้าวมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี เป็นอันดับสองรองจากยางพารา มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวกว่า 4.68 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน เนื่องจากราคาผลผลิตแปรปรวน ต้นทุนการผลิตมีการปรับราคาสูงขึ้น โดยวัตถุดิบดังกล่าวประเทศไทยต้องนำเข้า อาทิ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีต้นทุนสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้พยายามให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน ใช้งบประมาณเพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประมาณปีละ 54,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินตามมาตรา 28 ของนโยบายการเงินการคลังของประเทศ เป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องของประเทศ เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุน การผลิตและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท) ซึ่งถือเป็นการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ต้องมีการติดตามว่าเกษตรกรจะนำไปใช้จ่ายตรงเป้าหมายที่รัฐกำหนดหรือไม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากตลอดระยะเวลา แสดงให้เห็นว่าโครงการและมาตรการต่างๆ ของรัฐ ยังไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างยั่งยืน
...
ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และการสร้างความเข้มแข็งจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ดำรงชีพอยู่ได้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จึงมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 โดยสนับสนุนปุ๋ยที่เหมาะสมตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในรูปแบบ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” (ภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการซื้อปุ๋ย เพื่อเพิ่มโอกาสและบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าถึงปัจจัยการผลิตให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวลดความเดือดร้อนในการใช้ปุ๋ยสูตรต่างๆ และปริมาณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยในการลดต้นทุนการผลิตข้าว รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะดินเสื่อมสภาพ ตลอดจนเพื่อเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
เป้าหมายโครงการฯ สนับสนุนค่าปุ๋ยในอัตราปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 1,000 กิโลกรัม) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน แยกเป็น 1) เกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไป 4.48 ล้านครัวเรือน (ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีความเหมาะสมกับการปลูกข้าว) 2) เกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 0.20 ล้านครัวเรือน (ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำและชนิดเม็ด และขึ้นบัญชีนวัตกรรม) กรอบวงเงิน 33,530 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความโครงการฯ 33,422.950 ล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 108.006 ล้านบาท และมอบหมายกรมการข้าว ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการและงบประมาณต่อไป “การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมนัดแรกภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ซึ่งนายกฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาของพี่น้องชาวนา โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการในการเร่งขยับราคาข้าวให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ได้รับเสียงสะท้อนจากเกษตรกรว่า มาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาของภาครัฐ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหามาตรการในการลดต้นทุนการผลิตอย่างจริงจัง เพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้ทันในฤดูกาลที่จะถึงนี้ สำหรับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ถือเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วม โดยเกษตรกรออกครึ่งหนึ่ง รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาปุ๋ยที่มีความเหมาะสมต่อการผลิตข้าว ใช้ปัจจัยการผลิตตรงตามเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนอย่างจริงจัง ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าวให้สนองความต้องการของตลาด อีกทั้งยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐได้ถึงปีละ 20,770 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือชาวนา ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท) ซึ่งใช้เงินปีละประมาณ 54,300 ล้านบาท” รมว.ธรรมนัส กล่าว
...
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่ง นบข. เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ลงวันที่ 28 ธ.ค. 66 เพื่อให้พิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการผลิตข้าวไทย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประสิทธิผลดีต่อเกษตรกรผู้ผลิต และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการผลิตข้าวไทย โดยมีองค์ประกอบ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน อธิบดีกรมการข้าว เป็นเลขานุการ และมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1. เสนอแนวทาง แผนงาน โครงการ และมาตรการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการผลิตข้าวและศักยภาพของชาวนาที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบการผลิตข้าวโดยรวมของประเทศ
2. ประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 3. แต่งตั้งคณะทำงาน หรือที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานตามที่คณะอนุ นบข.ด้านการผลิต เห็นสมควร 4. เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุ นบข.ด้านการผลิต 5. รายงานผลการดำเนินงานต่อ นบข.ต่อไป และ 6. ปฏิบัติงานอื่นตามที่ นบข.มอบหมาย
...