นับแต่โควิด-19 คลี่คลาย “เศรษฐกิจไทย” มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนต่อเนื่องจากปัจจัยหนุนการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการขยายตัวภาคการส่งออกมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น “ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
แต่ก็ยังมีปัจจัย “ข้อกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามตะวันออกกลาง” ตามข้อมูลจาก “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย” ที่จัดแถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 โดยมี ผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผช.อธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ ผอ.สถาบันยุทธศาสตร์การค้าม.หอการค้าไทย บอกว่า
ในเดือน ก.พ.2567 “ผู้ประกอบการ” เห็นว่า ปัจจัยเชิงลบที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และระดับจังหวัดนั้นมีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
เรื่องนี้ผู้ประกอบการต่างเรียกร้องขอปรับลดดอกเบี้ยมาตลอด “เพื่อลดต้นทุนประกอบธุรกิจ” เมื่อ กนง.คงดอกเบี้ยย่อมส่งผลให้ “ต้นทุนภาคธุรกิจไม่ได้ลดด้านการเงิน” แล้ว สศช.ก็ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 เติบโต 2.2-3.2% จากเดิมคาดจะโต 2.7-3.7% หลังภาพรวมเศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัว 1.9%
...
กลายเป็นบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นให้ “ผู้ประกอบการในภูมิภาค” ซ้ำเติมข้อกังวลในความขัดแย้งอิสราเอลกับปาเลสไตน์ “เกรงจะขยายวงกว้างทั้งภูมิภาคยืดเยื้อ” ทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกทรงตัวสูง
ถัดมาคือ “ความเสี่ยงผันผวนระบบเศรษฐกิจการเงินโลก” ทั้งการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนไม่แน่นอน “ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” ทั้งรัสเซีย-ยูเครน หรือตะวันออกกลาง เป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกด้วยซ้ำ
ทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงในประเทศอย่าง “ฝุ่น PM 2.5” ส่งผลต่อการทำกิจกรรมกลางแจ้งในบางพื้นที่ “กระทบสุขภาพประชาชน” ที่ออกมาจับจ่ายใช้สอย หรือท่องเที่ยว และปัจจัยปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจอยู่ในเกณฑ์สูงโดยเฉพาะครัวเรือนมีรายได้น้อย ธุรกิจ SME และลูกหนี้ภาคเกษตรมีภาระหนี้สูงขึ้นในเดือน ก.พ.นี้
ไม่เท่านั้นยังมีความกังวลกับ “ปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร” โดยเฉพาะสภาวะเอลนีโญจะทำให้ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ “ย่อมกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร” แถมน้ำมันขายปลีกอย่างแก๊สโซฮอลออกเทน 91 และแก๊สโซฮอลออกเทน 95 ปรับตัวเพิ่มขึ้น อันเป็นปัจจัยเชิงลบกระทบต่อเศรษฐกิจได้เหมือนกัน
ถ้ามาดูปัจจัยเชิงบวก “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ” ที่มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 เช่น มาตรการ Easy E-Receipt ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. เป็นการกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอยค่อนข้างเยอะ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ “โดยเฉพาะชาวจีน” ก็เข้ามาในไทยมากขึ้นในช่วงของเทศกาลตรุษจีนนั้น
ส่วนการยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยวบางประเทศ “เป็นปัจจัยบวก” ช่วยลดค่าครองชีพการดำเนินชีวิต และการทำธุรกิจ “กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัว” ทำให้การท่องเที่ยวการบริการดีขึ้น มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ
ปัจจัยบวกต่อมา “การส่งออกของไทย” ในเดือน ม.ค.2567 ขยายตัวร้อยละ 10 มูลค่า 22,649.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าขยายขึ้นร้อยละ 2.6 มีมูลค่า 25,407.78 ล้านดอลลาร์ ขาดดุลการค้า 2,757 ล้านดอลลาร์ แล้วราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศทรงตัวอยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ทำให้ต้นทางการขนส่งยังคงที่
แต่ว่าราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดี “ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น” ทำให้มีกำลังซื้อในต่างจังหวัด “ประชาชน” เริ่มจับจ่ายใช้สอยกลับมาเป็นปกติ แต่ยังต้องระวังการเลือกซื้อสินค้าอยู่ด้วย
ดังนั้นผลสำรวจที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สะท้อนให้เห็นว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย” มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน ม.ค. ทุกปัจจัยประมาณ 0.1-0.2 “ยกเว้นการท่องเที่ยว” ยังไม่อาจกลับมาสู่สภาวะปกติได้
เช่นเดียวกับ “ภาคการเกษตร” แม้ปัจจุบันผลการเกษตรจะปรับราคาสูงขึ้นก็ตาม จากข้อมูลจะเห็นว่า ผลผลิตมิได้สูงมากจากปัญหาภัยแล้ง “ความต้องการมากกว่าผลผลิตที่มีอยู่” ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับราคาขึ้น
ประการต่อมา ถ้าเจาะดู “เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคในปัจจุบัน” อย่าง กรุงเทพฯและปริมณฑล มีเรื่องน่าเป็นห่วงในด้านการลงทุน การท่องเที่ยว และภาคการเกษตร เพราะดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่า 50 แม้ว่าเดือน ก.พ.จะมีสัญญาณการปรับตัว 0.1 เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. เพราะนโยบายของภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปี
...
หากมาดูปัจจัยลบ “เศรษฐกิจโลกชะลอตัว” ผู้ประกอบการกังวลความผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ สัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคลดลง ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาฝุ่น PM 2.5
ในส่วน “ภาคกลาง” ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าเกณฑ์ 50 เช่น การท่องเที่ยว 47.7 เกษตรกรรม 47.6 และการจ้างงาน 49.4 ผลพ่วงจากค่าพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงความกังวลภัยแล้งกระทบผลผลิตทางการเกษตร มีความกังวลต้นทุนการผลิต และการเกษตรที่อยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ “ภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น” ยังส่งผลต่อกำลังซื้อของคนในพื้นที่ ส่วนปัจจัยเชิงบวก อย่างเช่นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และบรรเทาภาระค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะ Easy E-Receipt
ถัดมาคือ “ภาคตะวันออก” สถานการณ์ค่อนข้างปรับตัวดีมากกว่าภาคอื่น สังเกตจากดัชนีความเชื่อมั่นทุกปัจจัยเกิน 50 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลพวงจากการส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย “มีเงินหมุนเวียนในจังหวัด” ส่วนปัจจัยการส่งออกก็ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
...
ปัจจัยเชิงลบ อย่างเช่นเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พลังงานปรับตัว การส่งเสริมการลงทุนลดลง อากาศแปรปรวนกระทบการใช้ชีวิต และมีข้อกังวลการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรม สิ่งที่ต้องแก้คือ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศในเขต EEC และการสร้างมาตรฐานสินค้าส่งออกของไทยให้แข่งขันได้
ขณะที่ “ภาคอีสาน” มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แต่มีปัจจัยฉุดรั้งจาก “การท่องเที่ยวที่ไม่โดดเด่น” ทั้งสถานการณ์น้ำใช้เพื่อการเกษตรอุปโภคบริโภคอาจไม่เพียงพอ “เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน” แถมยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต ปัญหาไฟป่า กำลังซื้อของคนในพื้นที่ลดลง และภาระหนี้ครัวเรือนกลับเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจัยบวกคือ “ต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น” โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ “สิ่งที่ต้องแก้ไข” การจัดการน้ำให้เพียงพอช่วงหน้าแล้ง และกระตุ้นการจับจ่ายเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนนอกเขตเมืองให้คึกคัก
...
หากมาดู “ภาคเหนือ” ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นทุกปัจจัยโดยเฉพาะการบริโภค และอุตสาหกรรมเพิ่ม 0.4 จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีกำลังผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และมีการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมาตรการ Easy E-Receipt และ Visa Exemption
สิ่งที่เป็นปัจจัยลบนั้น “จำนวนนักท่องเที่ยว” ที่ไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดไว้ “เศรษฐกิจโลก” ประเทศคู่ค้ายังอยู่ในภาวะชะลอตัว ความกังวลน้ำใช้การเกษตรอาจไม่พอ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และกำลังซื้อคนในพื้นที่ชะลอตัว
สุดท้าย “ภาคใต้” ยังมีปัญหาด้านการเกษตรส่งผลให้ระดับรายได้ไม่โดดเด่น แต่แนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวดีขึ้น และมีคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับยางพารา
ปัจจัยลบที่เป็นปัญหาคือ “ราคาปัจจัยการผลิตยังสูง” ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิต รวมถึงความกังวลปัญหายาเสพติดเชื่อมโยงกับความมั่นคง และเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะความปลอดภัยใน 3 จชต.
ทั้งหมดนี้เป็นผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นภาพรวม” เริ่มปรับตัวดีขึ้นแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวดีตามมา...
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม