ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวสารวงการยางพาราที่กำลังได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดที่สุดในเวลานี้ คือการประกาศมาตรการ “EUDR” จากทางประเทศฝั่งยุโรปที่จะเริ่มต้นบังคับใช้สิ้นปี 2567 โดยเป้าหมายของมาตรการนี้คือการกำหนดให้สินค้า 7 ประเภท ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน โค ไม้ และยางพารา (รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปทุกชนิด) ต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ เพื่อป้องกันปัญหามิให้มีการซื้อขายสินค้าที่มาจากแหล่งที่ไม่ถูกต้องและมีการตัดไม้ทำลายป่า
มาตรการ EUDR กลายเป็นตัวจุดชนวนให้หลายประเทศต้องหันมาใส่ใจกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ภายใต้ข้อกำหนดทั้ง 7 ประเภทมากขึ้น เพราะหากไม่ได้รับการรับรองก็จะไม่สามารถทำการค้าร่วมกันได้เลย ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2566 เราส่งออกสินค้าภายใต้ EUDR รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1.62 หมื่นล้านบาท โดยมียางพาราเป็นสินค้าหลัก มูลค่าราว 1.37 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนมากถึง 84.85% จึงกล่าวได้ว่ามาตรการนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยที่มีปริมาณการส่งออกยางมหาศาล
แม้ข้อกำหนดดังกล่าวอาจฟังดูน่าหวั่นใจ แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางด้าน “กลุ่มบริษัทศรีตรัง” ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรและผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กลับออกมายืนยันว่า “ประเทศไทยมีความพร้อมแข่งขันอย่างมาก” ภายในงานแถลงข่าวเปิดตัว “ยางมีพิกัด” หรือ “ยาง GPS” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
เหตุใด “ศรีตรัง” จึงมีความมั่นใจเช่นนั้น และสินค้าใหม่ของบริษัทอย่าง “ยางมีพิกัด (GPS)” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไร ไทยรัฐออนไลน์ชวนไปคุยกับ นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ที่จะมาเผยเรื่องราวล่าสุดของวงการยางพาราไทยที่พร้อมแล้วจะก้าวไกลไปสู่อีกระดับ
“ยางมีพิกัด (GPS)” ผลิตภัณฑ์จากการมองเห็นอนาคต
ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างตระหนักและพยายามหาทางรับมือพร้อมมองหาวิธีการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นในประเทศแถบยุโรป ที่ได้มีการริเริ่มกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าขึ้น นำไปสู่มาตรการ EUDR หรือ European Union Deforestation Regulation ที่หวังลดการอุปโภคบริโภคสินค้าที่เกิดจากการรุกล้ำธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าลดน้อยลงตามไปด้วย
ด้วยการมองเห็นความสำคัญของแนวทางดังกล่าว และมุ่งหวังจะยกระดับยางพาราไทยให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น กลุ่มบริษัทศรีตรังจึงได้มีการประกาศความพร้อมในการดำเนินงานตามมาตรการ EUDR ผ่านการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทที่มีชื่อว่า “ยางมีพิกัด” หรือ “ยาง GPS” ซึ่งจุดเด่นของสินค้านั้นก็ตรงตามชื่อ คือสามารถที่จะตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของยางได้ 100% ผ่านระบบที่ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งศรีตรังได้ออกแบบและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
“เราตั้งชื่อนี้มาเพื่อให้เข้าใจง่าย ว่ายางมีพิกัดเป็นยางที่ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ว่าไม่ได้มาจากแหล่งที่ตัดไม้ทำลายป่า โครงการนี้ก็จะสอดคล้องกับมาตรการ EUDR ที่กำลังจะมาถึงพอดี” นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กล่าวกับทีมงานไทยรัฐออนไลน์ ก่อนจะเล่าต่อถึงความท้าทายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้
“ต้องยอมรับว่า EUDR เป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งสิ่งนี้เปรียบเสมือนอีกหนึ่งความท้าทายใหม่ของบริษัท ที่จะต้องทำการศึกษาและพร้อมปรับตัวอยู่ตลอดเวลา อาจจะต้องรอถึงตอนที่มาตรการบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราแน่ใจคือเรื่องของการตรวจสอบย้อนกลับ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการลงทุนกับระบบ กับเครื่องมือต่างๆ สำหรับการเก็บข้อมูล ซึ่งจะมีปริมาณมหาศาล เราต้องเก็บจากทั้งเกษตรกร จากพ่อค้าคนกลาง และโรงงาน ต้องมีการพูดคุยกับทุกฝ่ายอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
เพื่อจะบรรลุเป้า EUDR การเดินหน้าไปด้วยกันทุกภาคส่วนจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ได้เผยว่า ประเทศไทยเรานับว่ามีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี จากการทำงานเชิงรุกของภาครัฐ คือ “การยางแห่งประเทศไทย” ที่ให้ความสำคัญกับมาตรการนี้อย่างมาก ผ่านการประสานงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นทางกลุ่มบริษัทศรีตรังเองก็ยังพร้อมช่วยเร่งกระบวนการสู่เป้าหมายให้รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกขั้นจากระบบ Ecosystem ที่ครอบคลุมและครบวงจร โดยบริษัทมีแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “ศรีตรังเพื่อนชาวสวน” หรือ “Sri Trang Friends” เป็นศูนย์กลางสำหรับให้เกษตรกรที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทเข้ามาใช้งาน ทั้งการซื้อ-ขาย กระจายข่าวสาร ไปจนถึงเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทศรีตรังแทบจะทั้ง 100% สามารถเป็นผู้ผลิตยางมีพิกัด (GPS) ที่ติดตามตรวจสอบได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกันทางฝั่งพ่อค้ายางที่ขายยางกับเราก็ใช้แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้บริษัทก็สร้างอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “Sri Trang Friends Station” เพื่อช่วยให้พ่อค้าใช้รับซื้อยางอย่างมีมาตรฐานและยังใช้บันทึกข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ผนวกกับทางโรงงานที่มีระบบการบริหารจัดการวัตถุดิบ ตั้งแต่รับวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุ ไปจนถึงการขนส่ง ส่งมอบให้กับลูกค้า โดยระบบทั้งหมดจะเชื่อมต่อกัน ทั้งนี้ ศรีตรังได้มีการดำเนินงานและติดตามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สามารถผลิตยางมีพิกัดได้เป็นที่เรียบร้อย สิ่งนี้จึงนับว่าเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ศรีตรังมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่ากลุ่มบริษัทศรีตรังและประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก ด้วยยางชนิดพิเศษที่ติดตามได้ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่าปกติ ช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้ประเทศและเกษตรกรไทยในวันข้างหน้า
“ในปี 2567 นี้ เรามีเป้าหมายจำนวนเกษตรกรและผู้ค้ายางที่จะทำยางมีพิกัดกับศรีตรังที่ประมาณ 100,000 ราย ซึ่งปีหน้าเรามีเป้าหมายวางไว้ที่ประมาณ 220,000 ราย เพื่อที่จะส่งออกประเทศทางฝั่งยุโรป หรือประเทศที่เขามีความต้องการยางประเภทนี้อยู่ด้วย เป้าประมาณ 50% ของปริมาณการขายยางทั้งหมดของเรา”
ตั้งเป้าเติบโตรับดีมานด์ยางฟื้นฟู พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางไทย
ทั้งนี้ ในส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติของไทยนั้น กล่าวได้ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดี ด้วยความต้องการของตลาดที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงจากประเทศผู้บริโภคยางรายใหญ่อย่างจีน ที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว ขณะเดียวกัน สถานการณ์ราคายางธรรมชาติก็เริ่มมีการปรับตัวในเชิงบวกตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยยาง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ในเดือนมกราคม-เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 152.7-155.1 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ที่ 145.4 เซนต์ต่อกิโลกรัม หรือราว 5-7%
จากแนวโน้มอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางบวก ในปี 2567 นี้ ศรีตรังจึงตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตจากเดิม 3.66 ล้านตัน เพิ่มเป็น 3.86 ล้านตัน หวังเพิ่มปริมาณการขายยางทุกประเภทขึ้น 15% จาก 1.3 ล้านตันในปีก่อน เป็น 1.5 ล้านตัน พร้อมเปิดศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ประเทศไอวอรี่โคสต์ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของผลผลิตยางพารา โดยจะมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรการ EUDR เช่นเดียวกับยางที่ผลิตในไทย
“ถ้ายางมีพิกัดปล่อยออกไป ผมคิดว่าศรีตรังหรือประเทศไทยเราจะได้เปรียบทันที เพราะว่าใน 1-2 ปีนี้ ยาง EUDR ที่เป็นมาตรฐานใหม่ของยุโรปจะขาด ใครทำได้ก่อนจะได้เปรียบ แล้วจะเรียกราคาได้ดี ขณะเดียวกันมันจะเป็นการยกระดับยางของประเทศไทยทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ แล้วภาพลักษณ์ของประเทศไทยก็จะโดดเด่นกว่าชาติอื่นๆ จะเล็งเห็นว่ายางที่เราผลิตไม่ใช่ธรรมดา ทำให้มีมูลค่าเพิ่ม ถ้าอันนี้ทำสำเร็จ ผมเชื่อว่าจะเป็นมูลค่าเพิ่มให้ยางไทยแน่นอน” นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กล่าวทิ้งท้าย ตอกย้ำความพร้อมของกลุ่มบริษัทศรีตรัง ที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยางไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนอย่างแท้จริง