ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะให้ประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง เปลี่ยนสถานะสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2580
แต่การจะหลุดออกจากกับดักนี้ได้นั้น วัยแรงงานจะต้องมีทักษะพื้นฐานต่างๆที่พร้อมจะยกระดับความสามารถตนเองที่จะก้าวเข้าสู่อาชีพที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นของวัยแรงงานดังกล่าว เรียกว่า ทักษะทุนชีวิต หรือ Fundational Skills ประกอบด้วยทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล ทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งเป็นความสามารถที่วัยแรงงานจำเป็นต้องมี เพื่อเผชิญกับความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21
ส่วนการที่เราจะรู้ว่าวัยแรงงานของไทยมีทักษะทุนชีวิตระดับใด จะต้องมีการประเมินขีดความสามารถของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานไทย ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 15-64 ปี และเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก ทำการสำรวจทักษะและความพร้อมของวัยแรงงานในประเทศไทย หรือ Adult Skills Assessment in Thailand หรือ ASAT โดยวัดทักษะพื้นฐาน 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล ทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งหากจะดูคะแนนความสามารถของเด็กนักเรียนในระบบจากคะแนนพิซา คะแนน ASAT ก็คือความสามารถของวัยแรงงานหรือ คะแนนพิซาของวัยแรงงาน นั่นเอง
...
“ทีมการศึกษา” ขอฉายภาพข้อค้นพบจากผลสำรวจ ASAT ในครั้งนี้ โดย นายโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก ให้ข้อสรุปผล ASAT ว่า “...ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติทักษะทุนชีวิต คล้ายกับหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ คือมีสัดส่วนที่ใหญ่มากของเยาวชนและผู้ใหญ่ โดยกว่าร้อยละ 75 ที่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐานและการคำนวณอย่างง่ายๆ และไม่แสดงออกว่าจะสามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ เช่น ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหา เช่น ฉลากยา มีปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่งและแป้นพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็น ซึ่งทักษะทางอารมณ์และสังคมเหล่านี้ช่วยให้บุคคลสามารถผ่านความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความตื่นตระหนกในชีวิตประจำวัน โรคระบาด และภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักประสบ ซึ่งพบมากที่สุดในพื้นที่ชนบทของภาคเหนือและภาคใต้ ภาพรวมวัยแรงงานเกือบ 1 ใน 5 มีระดับทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ทั้ง 3 ด้าน เป็นข้อเสียเปรียบอย่างมาก ส่งผลให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นความท้าทายอย่างมากที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ประเทศรายได้ สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม...”
สำหรับทางออกที่จะยกระดับทักษะทุนชีวิตของแรงงานไทยนั้น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมบริหาร กสศ. ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 40 เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ ซึ่งจากข้อค้นพบในงานวิจัยนี้ กสศ.มีข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาล 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกระดับการศึกษา และการฝึกอบรมพัฒนาประชากรวัยแรงงานอย่างเสมอภาคโดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบาง 2.การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานทุกๆคน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของการลงทุนในทักษะทุนชีวิต และ 3.การลงทุนในทุนมนุษย์อย่างทักษะทุนชีวิต รวมทั้งการลงทุนในมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ตรงจุดและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดที่ต้องการการนำจากรัฐบาลใน การดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถของคนไทยทุกคน
...
นอกจากนี้ ในวงเสวนาเรื่อง “กู้วิกฤติทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน” จัดโดย กสศ.มีข้อเสนอจากนักวิชาการในการกู้วิกฤติทักษะคนไทย เช่น การกำหนดให้การพัฒนาทักษะทุนชีวิตของคนไทยเป็นวาระแห่งชาติ มีการทุ่มเทงบประมาณมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนไทยทุกคนที่เรียนไม่เกินชั้น ม.3 ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่และเป็นกลุ่มแรกที่มีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ก้าวทันโลก รวมถึงการถอดบทเรียนการพัฒนาคนของต่างประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีโครงการ Kartu Prakerja (Pre-employment card) หรือ Prakerja ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาทักษะแรงงานในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยสามารถปรับทักษะของประชาชนได้มากถึง 17.5 ล้านคนในเวลาเพียง 3 ปี แรงงานที่เข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มรายได้จากทักษะที่สูงขึ้น
...
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวอีกว่า ทักษะทุนชีวิตเป็นทักษะที่มีความจำเป็นในโลกอาชีพในอนาคต ผลวิจัยนี้ กสศ.ต้องการสื่อออกไปว่า ไม่ว่าเราจะจัดการศึกษาอย่างไร ขอให้ยึดทักษะทุนชีวิตนี้เป็นเป้าหมายร่วมกัน การที่เรารู้ว่าเราอยู่ที่จุดใด เราจะได้พัฒนาขีดความสามารถคนไทยให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคนทุกหน่วยงานที่จะมาช่วยกัน
...
“ทีมการศึกษา” มองว่า การพัฒนาขีดความสามารถของประชากรวัยแรงงาน เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขทันที โดยใช้ประโยชน์จากผลการสำรวจทักษะทุนชีวิตในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกันตั้งแต่ผู้รับผิดชอบการศึกษาระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบ แรงงานทุกกลุ่ม รวมไปถึงกลุ่มคนเปราะบาง เพราะจากผลสำรวจ ASAT คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ณ วันนี้ แรงงานไทยยืนอยู่ที่จุดใดบนโลกใบนี้ และนั่นย่อมหมายถึงหากไม่แก้จุดบอดด้านทักษะทุนชีวิตของแรงงานไทย เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว เราคงไม่สามารถที่จะแข่งขันกับประเทศใดๆได้
หากไม่เริ่มต้นที่การพัฒนาคน เป้าหมายที่จะเป็นประเทศรายได้สูง ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย.
ทีมการศึกษา
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่