“Net Zero Emissions” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของแท้...ไม่ใช่แค่ปลูกป่าแทนการลดเชื้อเพลิงฟอสซิล...อย่างเช่น “จีน” สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดขนาด 135 เมกะวัตต์ โดยมีกระจกติดตั้งรายล้อม 12,000 บานบนพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตรในทะเลทรายโกบี

พื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน กำลังเดินหน้าเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าโดยกระจกจะหันหน้าไปตามแสงอาทิตย์และมีแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าสำรองได้ถึง 15 ชั่วโมง...สามารถปล่อยไฟฟ้าให้ชุมชนได้ถึง 1.5 ล้านหลังคาเรือน

น่าสนใจว่า...ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 350,000ตัน

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม บอกอีกว่า เทคโนโลยีดักจับ CO2 ลดโลกร้อน “Net Zero” ไม่ต้องรอปลูกต้นไม้

อีกตัวอย่าง...การดักจับคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี Direct Air Capture (DAC) Technology เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศหรือจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานหลอมเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน ฯลฯ

ด้วยตัวดูดซับและนำมลพิษทางอากาศไปแยกเฉพาะคาร์บอนได ออกไซด์ออกมา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ หรืออัดกลับไปกักเก็บในชั้นหินใต้ดินหรือใต้ทะเล เทคโนโลยีนี้จึงสามารถตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างดีนำไปสู่ Net Zero และความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมและการแก้ปัญหาโลกร้อนได้ด้วย

...

คำถามมีว่า...เทคโนโลยี “DAC” ทำงานอย่างไร?

ขั้นแรก...ดูดอากาศจากบรรยากาศหรือจากแหล่งกำเนิดที่กำจัดมลพิษทางอากาศออกแล้วผ่านพัดลมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปในระบบ collector และดูดผ่านแผ่นกรองพิเศษซึ่งจะดูดซับเฉพาะ CO2

ถัดมา...เมื่อแผ่นกรองดูดซับ CO2 จนเต็มแล้วระบบ collector จะปิดโดยอัตโนมัติและจะเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นประมาณ 100 องศาเซลเซียส แผ่นกรองจะปลดปล่อย CO2 ออกมากลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่บริสุทธิ์ ซึ่งสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ

ทั้งด้านการเกษตร การเป็นวัตถุดิบในน้ำอัดลม และการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ดังเช่นบริษัทในแคนาดานำ “CO2” ไปทำให้ตกตะกอนอยู่ในรูปของ “แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3)” หรือหินปูนกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในรูปของแข็ง ทำให้ไม่สามารถหลุดออกสู่บรรยากาศได้อีก

ซึ่ง...คาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้นี้จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารไฮโดรคาร์บอนอื่นๆที่มีมูลค่าต่อไป
ถัดมา...บริษัท Hellisheidi ประเทศไอซ์แลนด์ ติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดเท่าคอนเทนเนอร์ 8 ตู้ ที่ดักจับและกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 4,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีของต้นไม้เกือบ 4 แสนต้น มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์

มองนานาอารยประเทศแล้วหันกลับมามองบ้านเรา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา...ยังมีข่าวการ “เผา” กันขนาดหนัก พุ่งเป้าไปที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ค่า “ฝุ่น PM 2.5” ขึ้นสูงถึง 130 มคก.ต่อ ลบ.ม. (เฉลี่ย 24 ชั่วโมง) ต่อเนื่องมา 3 วันแล้ว...แม้แต่เครื่องบินยังขึ้นลงไม่ได้เลย

“ฝุ่นสูงขนาดนี้ควรที่จะประกาศเป็นภัยพิบัติได้แล้ว เพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน...ฝุ่นสูงต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงขนาดนี้มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนอย่างมาก รัฐบาลควรเข้ามาดูแลโดยด่วน”

“Burning everywhere”...เผากันทุกดอย คอยแค่อากาศเปิด มาตรการล้มเหลว แม่ฮ่องสอน

อาจารย์สนธิ ย้ำว่า ฝุ่นควันภาคเหนือ เหตุการณ์ที่เกิดซ้ำซาก ปัจจัยเยอะ แก้ไขปัญหายาก...

ประเด็นที่หนึ่ง...สภาพภูมิประเทศของภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน...เป็นพื้นที่ราบที่มีภูเขาล้อมรอบ ทำให้มีลักษณะเป็นพื้นที่ “แอ่งกระทะ”

เมื่อมีแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นบนดอยต่างๆลมจะพัดลงสู่แอ่งกระทะเกิดการกักขังฝุ่นไว้ในเมืองในหุบเขา ประกอบกับเป็นช่วงที่มีการระบายอากาศในแนวดิ่งไม่ดี โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายนที่ความกดอากาศสูงหรืออากาศเย็นที่แผ่มาจากแผ่นดินใหญ่อ่อนกำลังลงและยังเป็นช่วงลมมรสุม

...เริ่มเปลี่ยนทิศโดยจะเปลี่ยนเป็นลมพัดมาจากทางทิศใต้ทิศตะวันตกเฉียงใต้พัดขึ้นเหนือซึ่งยังไม่มีกำลังแรงพอโดยในภาพรวมทั้งหมดทำให้สภาพอากาศบริเวณภาคเหนือโดยเฉพาะพื้นที่แอ่งกระทะค่อนข้างนิ่ง การฟุ้งกระจายในแนวดิ่งและแนวราบไม่ดี ทำให้ “ฝุ่น PM 2.5” ถูกกักขังในเมือง

...

ประเด็นที่สอง...ในช่วงปลายกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนเมษายนเป็นช่วงอากาศแห้งแล้ง ในอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์น้อยลงเป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดประกอบกับอากาศนิ่งทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย

รวมทั้งประชาชนหลายพื้นที่ทำการ “เผา” ตอซังฟางข้าวเพื่อเตรียมแปลงสำหรับการเพาะปลูกใหม่ให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนเมษายนก่อนฝนจะตก จึงเกิดการเผาในหลายพื้นที่

รวมทั้งจุดไฟ...เผาป่า ล่าสัตว์ หาเห็ดเผาะ

ประเด็นที่สาม...จุดความร้อนจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดจากการเผาทั้งเมียนมาและ สปป.ลาว พัดเข้าสู่ภาคเหนือของไทย ประเด็นที่สี่...การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเผาในภาคเหนือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งที่มีแผนวาระแห่งชาติแต่การปฏิบัติไม่ได้ผล ได้แก่

ควบคุมการเผาของประชาชนไม่ได้ ไม่สามารถจูงใจหรือชดเชยให้ประชาชนลดการเผาลงได้เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ การให้ผู้ว่าฯเป็นเจ้าภาพควบคุมดูแลแต่ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการสั่งการหรือลง โทษหน่วยงานในพื้นที่ได้ รวมทั้งต้องตั้งตัวชี้วัดหรือ KPI ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังในพื้นที่ของตนเอง...

...

ไม่ให้มีการเผาเกิดขึ้น โดยต้องมีมาตรการส่งเสริมและลงโทษอย่างจริงจัง

ประเด็นสำคัญมีว่า... “ไฟป่า” เกิดขึ้นบนภูเขาหลายแห่งการดับไฟป่าทำได้ยาก ต้องมีมาตรการจัดการให้ประชาชนในพื้นที่เป็นแนวร่วมหรือเป็นเครือข่ายช่วยเฝ้าระวังและร่วมดับไฟป่าตั้งแต่เริ่มได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้ง...ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนทุกกรณีที่เกิดมีการเผาในที่โล่ง

แน่นอนว่า...“รัฐบาลไทย” ต้องเร่งผลักดันให้ฝุ่นควันข้ามแดนเป็นวาระของอาเซียนที่ต้องจัดการให้หมดไปโดยควรออกเป็นกฎบัตรอาเซียนกำหนดให้รัฐบาลทุกชาติต้องมีมาตรการลดการเผาและมีบทลงโทษชัดเจน รวมทั้งต้องกำหนดให้ไม่มีการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรที่มาจากการเผาทั้งหมด

สุดท้าย...จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน จะมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทุกปี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพทางอุตุนิยมวิทยาไม่เอื้ออำนวยแต่จะมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการลดหรือเพิ่มปริมาณเผาในพื้นที่และยังขึ้นอยู่กับแนวทางการจัดการของภาครัฐ

เหนืออื่นใดคือ “ความจริงใจ”...ในการลงลึกถึงรากเหง้าของปัญหาในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหา “ฝุ่น PM 2.5” ได้ถึงต้นสายปลายเหตุอย่างแท้จริง.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม