นับตั้งแต่ปี 2493 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างทั้ง 4 ประเทศ กัมพูชา, สปป.ลาว, ไทย และเวียดนาม จึงได้ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง และในปี 2538 ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน และได้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืนและเท่าเทียม

สำหรับกลไกการทำงานของ MRC ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ คณะมนตรี (Council) คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS)

MRCS มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงเวียงจันทน์ มีหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS CEO) เป็นผู้บริหารสูงสุด โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก MRC หมุน เวียนกันดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี

ช่วงปี 2568-2570 เป็นวาระที่ประเทศไทยต้องส่งผู้แทนเข้าดำรงตำแหน่ง MRCS CEO สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะที่เป็นสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกคนไทยคนแรกที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้ง MRCS ขึ้นมา

ตำแหน่ง CEO จะมีบทบาทและภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการ MRCS เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ให้เป็นไปตาม “ความตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง” หรือ “1995 Mekong Agreement”

จำเป็นต้องสามารถประสานงานกับประเทศภาคีสมาชิกแต่ละประเทศและประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ของเป้าหมายของกรอบความร่วมมือที่มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือในทุกมิติ ตลอดจนพัฒนา MRC ให้เป็นองค์กรลุ่มน้ำระหว่างประเทศระดับโลก สามารถให้บริการประเทศสมาชิกได้อย่างมืออาชีพที่พึ่งพาตนเองทางด้านการเงินในอนาคต

...

ขณะนี้ สทนช.กำลังดำเนินการเปิดรับสมัครคนไทยที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 1 เม.ย.2567 สามารถดาวน์โหลดใบสมัครและเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่เว็บไซต์ http://www.onwr.go.th หรือ https://www.tnmc-is.org

สะ-เล-เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม