นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมา ธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส กล่าวในงานเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศและเสรีภาพ กับการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ จำเป็นอย่างไร ในยุคดิจิทัล” ว่า คณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ภายใต้กรรมาธิการชุดนี้ทำงานอย่างเข้มข้น ที่ผ่านมาได้นำประเด็นสำคัญเข้าสู่การประชุมและเป็นมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 4 เรื่อง ได้แก่ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ 2.การเพิ่มพื้นที่สื่อดีสำหรับเด็ก 3.การจัดการปัญหาการพนันและการพนันออนไลน์ และเรื่องที่ 4 คือการผลักดันกฎหมายคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ เวทีเสวนาครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะติดตามประเด็นขับเคลื่อนในระดับนโยบาย รวมถึงการให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องความสำคัญจำเป็นของการมีกฎหมายที่เท่าทันกับสถานการณ์โลกยุคดิจิทัล โดยเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ได้ที่เว็บไซต์ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=348

ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเด็กผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะประเด็นการส่งข้อความพูดคุยเรื่องทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเด็กที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และนำไปสู่ปัญหาแม่วัยใสเพิ่มขึ้น หรือการเจตนาล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก สร้างโอกาสและความไว้ใจให้เด็กตกเป็นเหยื่อในการล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มขู่นำความลับเรื่องทางเพศออกเปิดเผย และปัจจุบันพฤติกรรมของผู้กระทำล่วงละเมิด หรือล่อลวงเด็กทางออนไลน์ ได้เปลี่ยนจากการดาวน์โหลดหรือเก็บข้อมูลไว้ในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไปสู่การเป็นสมาชิกผู้เข้าชมภาพลามกอนาจารเด็ก (Accessing to CSAM) แทน ดังนั้น การผลักดันการปรับปรุงและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาจึงเป็นเรื่องจำเป็นในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยในโลกไซเบอร์

...

น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครั้งนี้ เป็นปรับแก้เพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ในยุคดิจิทัล และเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำความผิด และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคมรับรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่ยอมรับ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่