จากการเสวนาเรื่องกู้วิกฤติทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน จัดโดยสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง (ทีดีอาร์ไอ) และที่ปรึกษาคณะอนุกรรม การส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ (กสศ.) กล่าวว่า ทักษะทุนชีวิต ซึ่งประกอบด้วยการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล ทักษะทางอารมณ์และสังคม เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องพัฒนาตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เด็กรู้จักการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รู้จักหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่คุ้มค่าต่อการทุ่มเทงบประมาณ โดยภาครัฐต้องกล้าลงทุนโดยกำหนดเป้าหมายคนไทยทุกคนที่ไม่ได้เรียนจบชั้น ม.3 คาดว่ามีประมาณ 20 ล้านคน แบ่งเป็นระยะๆ ในการลงทุนอบรม มีการประเมินโครงการ ซึ่งใช้งบประมาณ 1.8 แสนล้าน เป็นตัวเลขที่เชื่อว่ารัฐบาลจะหามาได้ ทั้งนี้เมื่อมีหลักสูตรอบรม รัฐก็ควรจะให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตฟรีเพื่อการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ยังควรให้ความรู้ด้านการเงิน การลงทุน และสุขภาพ

ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากบทเรียนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของประเทศอินโดนีเซียสามารถทำสำเร็จได้ภายใน 3 ปี พัฒนาคน 17 ล้านคน โดยที่ว่างงานเข้ารับการอบรมหางานทำได้ 27% และคนที่มีงานอยู่แล้วอบรมเพื่อเพิ่มทักษะทำให้มีรายได้มากขึ้น 18% ซึ่งเราสามารถถอดบทเรียน ปัจจัยที่ทำให้ประเทศอินโดนีเซียอบรมคนจำนวนมากประสบความสำเร็จคือรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการเองทั้งหมดแต่เป็นผู้ประสานดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างแพลตฟอร์มตลาดวิชาให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต คัดเลือกผู้สอน คัดเลือกผู้เรียนโดยกำหนดคุณสมบัติเช่นความยากจน พื้นที่ อาชีพ เพื่อให้เกิดการกระจายการพัฒนาทักษะไปทั่วประเทศ มีการให้เงินอุดหนุนผู้เรียนเพื่อชดเชยรายได้ และหลังผ่านการอบรมจัดให้ผู้เรียนพบกับนายจ้างที่ต้องการบุคลากรที่มีสมรรถนะสูง ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีการปรับปรุงหลักสูตรและการประเมิน และการจัดการที่โปร่งใส หากประเทศไทยจะมีการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของแรงงานไทย
จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้ชัดเจน สร้างทักษะแรงงานให้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต ขณะเดียวกันจะต้องมีการพัฒนานายจ้างให้มีมุมมองที่ก้าวหน้าที่จะจ้างงานผู้มีสมรรถนะสูง ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาแรงงานคุณภาพสูงสมองไหลไปที่อื่น.

...