นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว “ขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการตี 4” นำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กำลังเป็นประเด็นถูกหยิบมาพูดกันอีก เมื่อมีการผลักดันขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไปให้สอดคล้องกับนโยบายนี้
ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนเคลื่อนไหว “คัดค้านขยายเวลาขายน้ำเมา” เพราะเกรงเกิดปัญหาทางสังคม และอาชญากรรมโดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับสูงขึ้น นับแต่ขยายเวลาปิดสถานบริการตี 4 มานี้
อ้างอิงจาก “ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด” ที่เก็บสถิติการเสียชีวิตทั้งวันของเดือน ม.ค.2567 อยู่ที่ 205 ราย เพิ่มจากปี 2566 จำนวน 49 ราย ถ้าดูเฉพาะ 02.00-05.59 น. เสียชีวิต 18 ราย เพิ่มจากปี 2566 จำนวน 8 ราย คิดเป็น 80% แยกเป็น กทม. 3 ราย เชียงใหม่ 3 ราย ชลบุรี 1 ราย ภูเก็ต 1 ราย
อย่างเหตุล่าสุดเวลา 04.20 น.วันที่ 17 ก.พ.2567 “ตำรวจจราจรกลาง” ตั้งด่านถนนพระราม 4 หนุ่มเมาจากผับหลังสวนลุมพินีขับเก๋งแหกด่านชนตำรวจเสียชีวิตวัดแอลกอฮอล์ 187 มิลลิกรัม% ทำให้การขยายเวลาขายเหล้า-เบียร์ต้องติดตามใกล้ชิด สะท้อนผ่าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า
...
ตามข้อมูล “บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ” จะเห็นว่าในช่วงการขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ตั้งแต่ 02.00-06.00 น. มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 18 ราย เพิ่มจากปีที่แล้ว 8 ราย สอดคล้องกับข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 16-31 ธ.ค.2566 ก็มีสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทว่าแม้ตัวเลขเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นนี้ “รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการป้องกันใหม่ๆ” ที่จะเข้ามายับยั้งความสูญเสียให้น้อยลงด้วยซ้ำ อย่างเช่น “มาตรการต้นน้ำ” ด้วยสถานบริการเข้าเกณฑ์อนุญาต 1,400 กว่าแห่งนี้ ก็ไม่ปรากฏตัวเลขร้านใดสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ได้อย่างเคร่งครัด
ไม่ว่าจะเป็นการวัดแอลกอฮอล์ลูกค้า การห้ามขายเครื่องดื่มให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี และคนเมาคุมสติไม่ได้ หรือลูกค้ามีแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัม% ต้องจัดหาที่พักคอยไว้หากลูกค้าไม่ยอมพักต้องหาคนขับขี่แทนนั้น
เรื่องนี้เท่าที่ติดตามมาเกือบ 3 เดือน กลับไม่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ให้สังคมสืบค้นได้ว่า “หน่วยงานภาครัฐสามารถควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรัดกุม” ส่วนหนึ่งเพราะเครื่องมือในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ยังเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ “ราคาสูง” ทำให้สถานบริการมีอุปกรณ์พร้อมใช้เพียง 5-10%
แม้แต่ “มาตรการกลางน้ำ” สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในการขยายเวลา หรือเพิ่มการตั้งด่านตรวจเมาแล้วขับก็ไม่ต่างไปจากเดิม ยิ่งกว่านั้นร้านขายสุราขออนุญาตกับกรมสรรพสามิตมีอยู่ 8 หมื่นแห่งใน 4 จังหวัดนำร่องกลับยังปล่อยปละละเลย “บางแห่งผสมโรงปิดตี 4” กลายเป็นช่องว่างให้คนเมาแล้วขับมาอยู่บนถนนมากขึ้น
ย้ำด้วย “เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว” ที่ถูกกล่าวอ้างในการขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการตี 4 ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการร้านค้า การจ้างงาน และเม็ดเงินกระจายสู่สังคมก็ไม่มีตัวเลขชัดเจนเช่นกัน
สรุปคือ “นโยบายขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการตี 4 นำร่อง 4 จังหวัด” ยังไม่ปรากฏมาตรการป้องกันอุบัติเหตุพอเพียงต่อ “การสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนอุ่นใจ” แถมตัวเลขอุบัติเหตุมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก
เมื่อเป็นประการเช่นนี้ “รัฐบาลกลับพยายามเดินหน้าขยายเปิดปิดสถานบริการไปทั่วประเทศ” ด้วยเหตุผลมาจากกลุ่มทุนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองต่างพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องผลักดันให้ “เปิดสถานบริการถึงตี 4 ครอบคลุมทั่วประเทศ” ด้วยแผนยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้น คือ
ขั้นแรก... “นำร่องใน 4 จังหวัด” ด้วยการชูนโยบายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในการใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร และผู้ให้บริการขนส่ง รวมถึงการสร้างรายให้กับประชาชนในพื้นที่ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 15 ธ.ค.2566
...
อันเป็นลักษณะของการโยนหินถามทางดู “กระแสตอบรับจาก 4 จังหวัดนำร่องนี้” เพราะหากประกาศขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการตี 4 พร้อมกันทั่วประเทศจะส่งผลให้สังคมออกมาคัดค้านต่อต้านรุนแรงได้
เมื่อผลตอบรับดีก็เข้าบันไดขั้นที่ 2...“เสนอขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ด้วยปัจจุบันภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อนุญาตให้ขายได้ 2 ช่วง คือ เวลา 11.00-14.00 น. และเวลา 17.00-24.00 น. กลายเป็นอุปสรรคจำกัดนักท่องเที่ยวมีเวลาสั่งเครื่องดื่มได้ถึงเที่ยงคืนเท่านั้น
ทำให้ถูกนำมาเป็นข้ออ้างเสนอ “ขอยกเลิกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด” โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีออกหนังสือเร่งด่วนไปยัง “รมว.สาธารณสุข” พิจารณาความเหมาะสม และเป็นไปได้ในการขยายกำหนดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไป
เพื่อสอดคล้องเวลาเปิดปิดสถานบริการตั้งในเขตท้องที่นำร่องตามมติ ครม. วันที่ 26 ธ.ค.2566 แล้วหนังสือฉบับนี้ระบุชัดว่า นโยบายเปิดสถานบริการตี 4 นำร่องมาตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 “ผลดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยอย่างดี” จนมีคำถามว่า ทำไม ครม.ทึกทักเอาเองไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะสวนทางกับความจริงมาก
...
กระทั่งกลางเดือน ก.พ.2567 “รมว.สาธารณสุข” ประธานกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประชุมพิจารณามีมติไม่ขยาย เพราะเครื่องดื่มประเภทนี้มิใช่สินค้าทั่วไปต้องมีการควบคุม เนื่องจากมีผลกระทบทางสังคม และสุขภาพ โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับในจังหวัดนำร่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ฉะนั้นข้อมูลนี้ก็ถูกเสนอต่อ “คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ” ก่อนมีมติตั้งคณะทำการศึกษาข้อมูลกำหนดกรอบเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไปอย่างรอบคอบรอบด้าน
กลายเป็นกระทบต่อบันไดขั้นที่ 3...“อันจะเสนอพิจารณาให้สถานบริการเปิดปิดตี 4 พร้อมกันทั่วประเทศ” ต้องสะดุดชะลอลงชั่วคราวแล้วก็เชื่อว่า “กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม” จะสามารถผลักดันนโยบายนี้ไปได้ ด้วยการหยิบยกการกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่
ถ้าเป็นเช่นนั้นอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต มีแนวโน้มสูงขึ้น 2 เท่า เพราะตัวแปรการเปิดขายสุรา 24 ชม.บวกกับการขยายเวลาปิดสถานบริการตี 4 ทั่วประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นทั้งสิ้น แต่ขณะที่มาตรการป้องกันรองรับนโยบายนี้กลับไม่มีอะไรใหม่เพิ่มเติม
...
“สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการเตรียมการเป็นขั้นตอนของกลุ่มธุรกิจและรัฐบาลโดยเฉพาะหลังการอนุญาตขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการตี 4 นำร่อง 4 จังหวัดเพียงไม่กี่วัน ครม.ก็มีหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขให้พิจารณายกเลิกกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่ม เพื่อให้สอดคล้องนโยบายขยายเวลาปิดสถานบริการนั้น” นพ.ธนะพงศ์ ว่า
สุดท้ายถ้าบันได 3 ขั้นบรรลุเป้าหมายขอเสนอ “รัฐบาล” มีหลักประกันมาตรการสกัดกั้นไม่ให้คนเมาขับรถบนท้องถนนได้แล้วถ้าเกิดผลกระทบกับประชาชน “ควรต้องมีผู้รับผิดชอบ” อย่างกรณีตำรวจกก.5 บก.จร.ถูกคนเมาจากเที่ยวผับขับรถชนเสียชีวิตถนนพระราม 4 หากเป็นไปได้กลุ่มธุรกิจสุราควรร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่
ดั่งแคมเปญโฆษณาของผู้ผลิตแอลกอฮอล์ มักได้ยินคำว่า “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” แล้วด้วยการเกิดอุบัติเหตุมักมีปัจจัยจากแอลกอฮอล์ “กลับไม่เคยมีเครื่องดื่มยี่ห้อใดต้องรับผิดชอบ” ดังนั้น รัฐบาลต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้รอบด้านก่อนออกนโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่ม หรือขยายพื้นที่เปิดปิดสถานบริการทั่วประเทศ
นี่คือบันได 3 ขั้น กลไกการผลักดัน “ขยายการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชม.” ที่จะส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญความเสี่ยงอุบัติเหตุจาก “นักดื่มที่เพิ่มขึ้น” นำไปสู่การได้ไม่คุ้มเสียตามมา. ผลักดัน
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม