วันนี้ (27 ก.พ. 67) เวลา 08.00 น. ที่หอประชุมสารภี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา ตำบลแหลมทอง อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 8 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด), นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม), ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์, นายวิจิตร กิจวิรัตน์, นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา, นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายสามารถ สุวรรณมณี ปลัดจังหวัดนครราชสีมา, นายสมนึก มนีพินิจ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ, ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 123 คน ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นทุกท่าน คือ ความหวังของประเทศชาติ ในการที่จะไปถ่ายทอดเรื่องราวที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ให้แก่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้คนในชาติได้รู้จักความเป็นไทย รู้จักแผ่นดินที่มีความสงบสุขที่พวกเราเรียกว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ" ที่ในอดีตนั้นเต็มไปด้วยความรักความสามัคคี รู้ซึ้งและตระหนักถึงความเป็นไทย มีความภาคภูมิใจว่าคนไทยมีน้ำใจไมตรี มีความรู้รักสามัคคี มีความเป็นญาติพี่น้องเสมือนเป็นสายโลหิตเดียวกัน แต่ด้วยพลวัตของโลกทำให้ความเจริญความทันสมัยในปัจจุบันทำให้สิ่งที่ดีเหล่านั้นเริ่มลดลงไปตามลำดับ เช่นเดียวกับที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ประจำท้องถิ่น ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ความว่า "เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย ....ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ..... ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไร แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ ..... อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย ดังนั้น คนในชาติจึงต้องช่วยกันสืบทอดสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ถ่ายทอดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นรากเหง้าของพวกเรา
"การรู้เรื่องราวของตัวเราเองจะทำให้เราได้เรียนรู้และได้รู้จักตัวเราเอง และจะทำให้เราดีกว่าที่เคยเป็นมา การบอกเล่าถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้รู้จักรากเหง้าและบุญคุณของบรรพบุรุษ ทำให้เกิดความกตัญญูกตเวที ได้เรียนรู้กับสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ที่จะเป็นประโยชน์ เกิดความเจริญงอกงามและความดีงามของผู้คนในสังคม ซึ่งจะทำให้ "ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข" สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" และพระบรมราชโองการ องค์ที่ 2 "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ด้วยการมุ่งแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ทุกศาลากลางจังหวัดและทุกที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ ได้ติดพระบรมราชโองการดังกล่าวเพื่อเตือนใจให้กับพวกเราทุกคนในการที่จะช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวทางแก้ไขในสิ่งที่ผิด คือ จิตอาสา เช่นเดียวกับที่ทุกท่านมุ่งมั่นตั้งใจมาสมัครเข้าเป็นวิทยากรผู้บอกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น หรือ "ครูจิตอาสา" ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องมีจิตอาสาที่เป็นกึ่งทางการ เพราะว่าพวกเราทุกคนจะต้องเป็นผู้สร้างการรับรู้ให้กับข้าราชการทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อไปทำหน้าที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กับประชาชน ที่มีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีพวกเราทุกคน ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ผิด ร่วมกับทีมทางการในการนำทีมจิตอาสาไปพูดคุยถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำหน้าที่ครูจิตอาสา ด้วยการพูดคุย ทั้งในการประชุมอำเภอ การประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน การประชุมโรงเรียน การอบรมถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียนในชุมชน ทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนให้ทุกสถานศึกษาได้มีการเรียนการสอน "วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม" ที่จะทำให้ทุกคนรู้จักหน้าที่และการเป็นพลเมืองดีของสังคม ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ในการ "ลดเวลาเรียน สร้างเวลารู้" ด้วยการเพิ่ม 3 วิชาดังกล่าวให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้อย่างน้อยรวมสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง ทำให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับอีก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย
"ผู้นำจิตอาสาถ่ายทอดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือ จุดแตกหักของความเป็นชาติ สิ่งสำคัญของโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องขยายผลทำให้เกิด "ครู ข" ได้มีโอกาสไปพูดคุยถ่ายทอดให้กับประชาชน เด็กและเยาวชน ได้ไปเพิ่มพูนเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติของบ้านเมืองที่บรรพบุรุษเสียสละเลือดเนื้อ หวงแหน ปกป้องบ้านเมืองให้มีแผ่นดินที่แสนจะมีความสุขให้เราเป็นที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกันกับนายอำเภอต้องใช้หอกระจายข่าว บันทึกเทปการบรรยายถ่ายทอดของ "ครู ก" ไปเผยแพร่ให้กับประชาชนในชุมชนตามที่เห็นสมควร ซึ่งจะทำให้ครู ก ได้มีเวทีที่จะขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประวัติศาสตร์ชาติไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นเอกราชของชาติไทย ซึ่ง "ครู 3 ป." คือ ครูป๊อด ครูปั๊ม และครูป้ายู ครูวิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ทุกท่านมีความตั้งใจที่จะทำให้พวกเราได้เป็นเสาหลักที่จะต้องสืบสาน รักษา และต่อยอด ขับเคลื่อนงานเป็นวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน ในฐานะ "Volunteer" จิตอาสา ผู้เป็นที่พึ่งและความหวังของคนในชาติไปทำให้เกิดสิ่งที่ดี จึงขอฝากความหวังและขอให้กำลังใจผู้เข้ารับการอบรมและข้าราชการผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน ให้มุ่งมั่นตั้งใจ มีความเข้มแข็ง ความกล้าที่จะทำความดี ด้วยการแสดงตนเป็น "ครูจิตอาสา" ไปบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้คนในสังคมเกิดความรู้ความเข้าใจ และสำคัญที่สุด คือ ตระหนักถึงความสำคัญของบรรพบุรุษชาติไทย เกิดความกตัญญูกตเวทีต่อชาติและครอบครัว เกิดความรักหวงแหนแผ่นดินบ้านเกิด ทำหน้าที่ "ทหารเสือของพระราชา" ในการเป็นจิตอาสาผู้ถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นต่อไป
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำหัวหน้าส่วนราชการ ปลูกต้นบุนนาค (Iron Wood) ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงยอดพุ่มทึบและแคบ มีทรงพุ่มใหญ่ลักษณะคล้ายเจดีย์ต่ำๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นๆ หลุดร่วงได้ง่าย ที่เปลือกชั้นในจะมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนในเนื้อไม้จะมีสีแดงคล้ำเป็นมันเลื่อม ประโยชน์ของต้นบุนนาคมีสรรพคุณใช้รักษาบาดแผลที่ถูกของมีคมบาด รักษาเสมหะในคอ กระพี้และดอกมีสรรพคุณใช้ปรุงเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงเลือด และรักษาลม รักษาอาการร้อนใน อาการอ่อนเพลีย เมล็ด บีบเอาน้ำมัน รักษาโรคปวดตามข้อ และใช้ทารักษาโรคผิวหนัง ผล มีฤทธิ์ช่วยขับเหงื่อ และฝาดสมาน และราก ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ จากนั้นได้เยี่ยมชมแปลงโคก หนอง นา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา เดินเยี่ยมชมนิทรรศการ การทำเตาชีวมวลไบโอชาร์ การทำไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช เศษอาหาร การทำแซนวิชปลา การทำปศุสัตว์ ตลอดจนมอบนโยบายแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ให้กับข้าราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา