เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผมแวะไปงานเลี้ยงฉลองวันเกิดครบรอบ 84 ปี ของเพื่อนรักเกลอเก่าที่ยังคงเป็นเกลอตลอดกาลของ

ผมคนหนึ่ง คุณ “ประกิต อภิสารธนรักษ์” เจ้าพ่อบริษัทโฆษณาระดับต้นๆของประเทศไทยนั่นแหละครับ

ผมกับคุณประกิตเป็นศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น พ.ศ.2503 มาด้วยกัน ถือเป็น “รุ่นประวัติศาสตร์” เพราะเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิด “ตลาดวิชา ” โดยสิ้นเชิง

จากมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้าง ต้อนรับผู้เรียนจบระดับมัธยมสูงสุด และเทียบเท่าทุกผู้ทุกคนที่ประสงค์จะร่ำเรียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2477 ธรรมศาสตร์ได้ยุติบทบาทลง เมื่อ พ.ศ.2503 นั่นเอง

ผู้ประสงค์จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะต้อง “สอบเข้า” แบบมหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วไป และสำหรับรุ่นแรกของคณะเศรษฐศาสตร์ก็เปิดรับไว้เพียง 200 คนเท่านั้น เราจึงรู้จักกันหมดทั้งรุ่น

เราทราบดีตั้งแต่ยุคนั้นแล้วว่าเพื่อนประกิตไม่มีโอกาสเรียนหนังสือมากนักตอนเด็กๆ เพราะต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ ทันทีที่จบประถมปีที่ 4 แต่เขาก็มุนานะสอบเทียบวุฒิ ม.3 ม.6 และในที่สุดก็ ม.8 ซึ่งเป็นวุฒิสูงสุดของระดับมัธยมในยุคโน้นได้ในที่สุด

ระหว่างเรียนเศรษฐศาสตร์ประกิตทำงานอยู่กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ใช้วิธีทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยและจะแวะมาฟังเลกเชอร์เท่าที่มีโอกาส พร้อมกับขอยืมสมุดจดเลกเชอร์ของเพื่อนไปอ่านเทียบกับที่อาจารย์พิมพ์โรเนียวขาย

ในที่สุดก็จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ โดยใช้เวลา 4 ปีเท่ากับ พวกเราที่ไปนั่งเรียนเต็มวันเกือบทุกวัน

เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว...ชีวิตของประกิตก็เปลี่ยนไปทันที จากงานเดิมที่ฟังดูว่าเป็นเสมียน หรืออะไรสักอย่าง ประกิตก็เข้าไปเป็นพนักงานด้านโฆษณาของบริษัท ดีทแฮล์ม เต็มตัว

...

ประกิตทำงานด้วยความรักความชอบอย่างทุ่มเท อย่างซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพ จนประสบความสำเร็จอย่างสูง กลายเป็นผู้เจนจบในวิชาการโฆษณาเพื่อการธุรกิจทั้งๆที่ไม่เคยเรียนมาก่อน

ต่อมาเมื่อเห็นสมควรที่จะเติบโตได้ด้วยตนเอง เขาก็ออกมาตั้งประกิตโฆษณา ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัทโฆษณาไทยๆที่ประสบความสำเร็จ เป็น 1 ใน 5 บริษัทโฆษณาระดับต้นๆของประเทศ

จากบริษัทโฆษณา ประกิตทดลองทำอะไรอีกหลายอย่าง ค่ายเพลงก็เคยทำมาแล้ว ห้องอัดเสียงก็ทำมาแล้ว รวมทั้งไปทำรีสอร์ตเล็กๆชื่อ หาดทรายแก้ว รีสอร์ต ที่บ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ และรีสอร์ตใหญ่ขึ้นมาพอสมควร อย่าง “บ้านสวนเฟื่องฟ้า” ที่แม่ริมเชียงใหม่ ฯลฯ

ล่าสุดเขาตัดสินใจสร้าง “โรงพยาบาลรวมใจรักษ์” ขึ้นอีกแห่งที่ ซอยสุขุมวิท 62 ไม่ไกลจากบริษัทโฆษณาของเขาเท่าไรนัก

เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 144 เตียง ที่ทันสมัยมาก ลงทุนไปกว่า 2,000 ล้านบาท มีบริษัทดังๆอย่างสหยูเนี่ยนมาร่วมทุนด้วย

เขาบอกพวกเราว่า เขาจะพอหรือหยุดเพียงเท่านี้แหละ เพราะอายุ 84 ปีแล้ว สิ่งที่ยังอยากทำขณะนี้ก็คือ การทำเพื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันมีพระคุณยิ่งของพวกเราเท่านั้น

โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในฐานะประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ทุกๆคืนวันที่ 9 ธันวาคม คืนสุกดิบก่อนวันธรรมศาสตร์ 1 วัน ประกิตจะรับหน้าที่ในการจัดกิจกรรมออกอากาศทางโทรทัศน์ เพื่อหารายได้ให้แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และทำมาน่าจะเกินกว่า 20 ปีแล้ว ถ้าผมจำไม่ผิด

แม้ในงานวันเกิด 84 ปีของเขา ประกิตก็บริจาคให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์นำร่องไปแล้ว 840,000 บาท

ดีแล้วชอบแล้วเพื่อนรัก “รวยแล้วต้องแบ่งปัน” นี่คือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่เราอยากเห็นเศรษฐีไทยทุกคนทำอย่างนี้

เราไม่เชื่อว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หรือเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เท่าที่มีอยู่ขณะนี้ จะแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ของประชาชนในชาติได้ ไม่เว้นแม้แต่ชาติเก่งๆแน่ๆอย่างสหรัฐฯก็ตาม

ทฤษฎีแก้ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทฤษฎีเดียวเท่านั้นคือ ต้อง “แบ่งปัน” ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้...ดั่งที่เพื่อนกำลังทำขณะนี้

แฮปปี้ 84 เบิร์ธเดย์อีกครั้ง แด่นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อ “โฆษณา” คนหนึ่งของประเทศไทย.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม