นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละส่วนงานของ กทพ.ใหม่ โดยเพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่าการ กทพ. อีก 2 ตำแหน่ง จากเดิมมี 4 ตำแหน่ง และมีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2567 ดังนี้ 1.นายวิชาญ เอกรินทรากุล เป็นรองผู้ว่าการด้านการเงินและพัฒนาธุรกิจ 2.นายพิทยา ธนวณิชย์กุล เป็นรองผู้ว่าการด้านดิจิทัล 3.นายวรปรัชญ์ พ้องพงษ์ศรี เป็นรองผู้ว่าการด้านกฎหมาย แทนนายดำเกิง ปานขำ ที่เกษียณอายุ และ 4.นายธิติพันธ์ พานิชประสาทสิน เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ กทพ. ส่วนรองผู้ว่าการ เดิม 4 ตำแหน่ง ได้แก่ นางทศานุช ธรรมโชติ รองผู้ว่าการด้านบริหาร นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรม นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์ และนางชินนาฏ คุณเจริญ รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการบริหารงาน จะเน้นการพัฒนาเชิงธุรกิจ การตลาด เพื่อเพิ่มรายได้รูปแบบจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ตามเขตทางพิเศษซึ่งมีทั้งที่ว่างเปล่า และพื้นที่ให้เช่า ซึ่งก่อนหน้านี้ กทพ.ได้จัดการประชุมสัมมนาเปิดรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของภาคเอกชน เพื่อประเมินความสนใจของนักลงทุน Market Sounding ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ 25 พื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.พื้นที่ศักยภาพในเมือง 7 พื้นที่ ได้แก่ ถนนสีลม, อโศก, สุขาภิบาล 5, หัวถนนรามอินทรา, เพลินจิต, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และปากซอยวัชรพล 2.พื้นที่ศักยภาพชานเมือง 8 พื้นที่ ได้แก่ ถนนศรีสมาน, จุดตัดถนนเทพรักษ์ ด้านทิศใต้ (ทางพิเศษฉลองรัช), จุดตัดถนนเทพรักษ์ ด้านทิศใต้ (ทางพิเศษกาญจนภิเษก), จุดตัดถนนศรีนครินทร์ ด้านทิศใต้ (ทางพิเศษกาญจนาภิเษก), บริเวณ กม.16 (ทางพิเศษอุดรรัถยา), พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ, ถนนจตุโชติ-วงแหวนรอบนอก (ทางพิเศษฉลองรัช) และต่างระดับบางปะอิน และ 3.พื้นที่เตรียมพร้อมรองรับสู่การติดตั้ง EV Station 10 พื้นที่ เช่น ถนนพระราม 6 ซอย 20 หน้าด่านรามคำแหง ด่านสุรวงศ์ หลังด่านเก็บเงินคลองประปา งามวงศ์วาน เซ็นทรัลพระราม 3 จุดกลับรถลาดพร้าวทาวน์อินทาวน์ เป็นต้น โดยจะนำร่องพื้นที่ย่านอโศก สีลม เพลินจิต และวัชรพล รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ กรณีให้เช่าพัฒนา ระยะเวลาประมาณ 3 ปี กรณีเปิดร่วมลงทุนฯ (PPP) ระยะเวลาประมาณ 5-15 ปี หากพื้นที่ใดประสงค์ก่อสร้างอาคารจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางพิเศษ ตั้งเป้าจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 และครบทั้งหมดภายในปี 2570.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่