ปัญหายาเสพติดตอนนี้ยังเป็น เรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “ยาบ้า” ที่กำลังระบาดหนักหาซื้อง่าย “ราคา 3 เม็ดร้อย” ถูกสุดในรอบหลายปีมานี้ส่งผลให้เยาวชนตกเป็นทาสเสพมอมเมาจนหลอนคลุ้มคลั่งออกอาละวาดก่อเหตุทำร้ายผู้อื่น สร้างความเดือดร้อนให้สังคมไม่เว้นแต่ละวัน

ถ้าดูข้อมูลจาก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)” สถิติการจับกุมคดียาเสพติดข้อหาร้ายแรงปี 2566-2567 ดำเนินคดี 35,183 คดี ส่วนผลกระทบการใช้ยาเสพติดจนอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายหรือเผาทำลายบ้านเรือนในปี 2566 จำนวน 129 คน ในปีงบฯ 2567 มีจำนวน 108 คน

สาเหตุนี้ทำให้ “กระทรวงสาธารณสุข” ออกกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1, 2, 5 อย่างเช่นแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม

เพื่อคัดกรองผู้ครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด สมัครใจบำบัดแยกออกจากผู้ค้าให้โอกาสผู้เสพคืนกลับมาใช้ชีวิตใหม่ หลังกฎกระทรวงออกไม่กี่วัน “หนุ่มบุรีรัมย์เสพยาบ้า 3 วันติด” จนคลั่งอ้างดีใจครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ไม่ผิด!

เกิดเป็นกระแสสังคมแสดงท่าทีเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างแพร่หลายในขณะนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร.และ หน.พรรคเสรีรวมไทย บอกว่า ในฐานะที่เคยเป็นตำรวจทำการปราบปรามยาเสพติดมานาน “เห็นเยาวชนติดยาเยอะขึ้นเรื่อยๆ” แม้รัฐบาลทุกยุคจะออกมาตรการใช้กฎหมายเข้มงวดเพียงใดก็ตาม

...

แต่ปรากฏพบว่า “ยาเสพติดยิ่งเพิ่มมากขึ้น” แถมเจ้าหน้าที่รัฐกลับทำการทุจริตกันอย่างมากมาย ทั้งเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือตรวจยึดยาเสพติดแอบเก็บของกลางส่งไม่ครบก็มี เหตุนี้การปรับแก้กฎหมาย “ควรต้องพิจารณาข้อบกพร่องฉบับเก่าอย่างรอบคอบ” เพื่อนำไปสู่การร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้ดีกว่าเดิม

ดังนั้น “โจทย์จำนวนการครอบครองยาเสพติดในระดับใดเหมาะสม..?” ตรงนี้ต้องทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็นเสียงสะท้อน “ประชาชน” โดยเฉพาะครอบครัวมีลูกหลานเสพยาเป็นกลุ่มเผชิญปัญหาโดยตรง เพื่อเป็นพื้นฐานรองรับเสนอญัตติแก้ไขกฎหมายให้ชอบธรรมยิ่งขึ้น มิใช่ขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานเพียงไม่มีคน

เช่นนี้ก็มีข้อกังวลสำหรับ “กฎกระทรวงฉบับใหม่” ผู้ค้าอาจใช้ช่องโหว่หาผลประโยชน์ง่ายขึ้น เพราะเมื่อยกเว้นให้ถือครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เป็นผู้เสพแล้ว ผู้ปฏิบัติก็ต้องสันนิษฐานตามนั้นกลายเป็นปัญหาการดำเนินคดีผู้ค้าได้ เช่น ผู้ค้ามียาบ้า 1,000 เม็ด ใช้วิธีเลี่ยงหาเครือข่าย 200 คน แบ่งให้ ถือครองไว้คนละ 5 เม็ด เพื่อขายให้ผู้อื่นก็ได้

แล้วด้วยกฎหมายให้อำนาจ “ผู้บังคับใช้กฎหมาย” ใช้ดุลพินิจแสวงหาพยานหลักฐานด้วยนั้น อาจนำมาซึ่งปัญหาจากการดุลพินิจที่เป็นอำนาจตัดสินใจอิสระที่จะเลือกทำการ หรือไม่ทำการอย่างใด ตามที่กฎหมายกำหนดได้ แล้วตำรวจชั้นประทวนบางคนยังขาดความชำนาญตัวบทกฎหมาย แต่กลับสามารถใช้ดุลพินิจอย่างอิสระ

ทำให้มักเกิดปัญหา “การใช้ดุลพินิจ” สำหรับตรวจจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนำไปสู่ช่องทางเรียกรับ และเสนอผลประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเลี่ยงถูกดำเนินคดี เช่น อาจมีผู้ค้าจ่ายเงินให้ผู้บังคับใช้กฎหมายบางคนทำเป็นคดีผู้เสพโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีจำหน่ายยาเสพติด ที่มักเป็นข่าวลืออยู่บ่อยๆก็ได้

“กลายเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ค้ารายย่อยแล้วคนกลุ่มนี้ต้องดึงเยาวชนเข้ามาเป็นลูกค้าผู้เสพหน้าใหม่ไปเรื่อยๆ เมื่อถูกจับก็รับสารภาพมียาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดครอบครองไว้เสพ แล้วสมัครใจเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูตามกฎหมายไม่กี่วัน เพื่อเลี่ยงไม่ต้องโทษคดีเป็นผู้ค้า สิ่งนี้จะส่งผลให้ยาบ้าระบาดมากกว่าเดิม” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ว่า

จริงๆแล้ว “การแก้ปัญหายาเสพติด” อยากเสนอแนวทางเหมือนดังสมัยก่อน กรณี “เปิดโรงยาฝิ่น” บุคคลใดอยากสูบก็ต้องมาที่ในโรงฝิ่นเท่านั้นที่ “ห้ามนำออกไปภายนอก” แม้แต่หลอด-มูลฝิ่นที่ติดอยู่ในกล้องต้องคืนให้โรงยาฝิ่น ส่วนโรงฝิ่นก็ไม่อาจนำไปขายข้างนอกได้ เพื่อเป็นการควบคุมการลักลอบขายฝิ่นให้ลดน้อยลง

เช่นเดียวกับ “ยาบ้า” หากต้องการควบคุมผู้เสพให้น้อยลง เสนอ “ตั้งคลินิกบริการเสพยาเสพติดบำบัด” โดยภาครัฐจะเป็นผู้ผลิตยาตามจำนวนผู้เสพแจกจ่ายยังคลินิกบำบัดฯ ประจำสาธารณสุขให้บริการแก่ผู้อยากยาเข้ามาเสพ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มาอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ในการรักษาบำบัดลดอาการอยากยาควบคู่กัน

...

สำหรับผู้ติดยาเข้ามาใช้บริการจะถูกบันทึกประวัติไว้เป็นข้อมูลปิดโดยจะไม่ถูกจับกุมแต่อย่างใด เมื่อเสพเสร็จก็ห้ามนำออกภายนอก “หากลักลอบเสพยานอกคลินิกบำบัดฯ” เมื่อถูกจับต้องดำเนินคดีหนักเด็ดขาด

ทว่าข้อดีสามารถเสริมให้บริการ “คำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ในเชิงสร้างแรงบันดาลใจ การทำจิตบำบัดเพื่อปรับความคิด พฤติกรรม หรือแนะนำเทคนิคไม่ให้ผู้ที่พึ่งพิงสารเสพติดกลับไปใช้สารเสพติด เพื่อช่วยเหลือจูงใจให้ผู้ใช้สารเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด หรือความช่วยเหลือทางสาธารณสุข และสังคมขั้นต่อไป

สิ่งสำคัญเมื่อมีคลินิกบำบัดฯ “การปราบปรามยาเสพติดต้องเข้มงวดสูงสุด” โดยห้ามมียาเสพติดโผล่ที่อื่นหากลักลอบซื้อขาย หรือเสพพื้นที่ใด “เจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลเขตนั้นต้องรับผิดชอบ” เพื่อการควบคุมปริมาณการระบาด “ใครอยากเสพยา” ก็ให้จำกัดการใช้เฉพาะคลินิกบริการที่ภาครัฐจัดให้ไว้เท่านั้น

จริงๆแล้ว “เรื่องการครอบครองยาเสพติด” ในความเห็นส่วนตัวไม่ควรมียาเสพติดในประเทศเลยด้วยซ้ำ “สามารถทำได้ด้วยการใช้มาตรการทุกมิติในการปราบปรามอย่างเข้มงวด” อย่างเช่นกรณีสมัยท่านทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนได้ชื่อว่าเป็นยุคที่มีการปราบปรามยาเสพติดได้ผลสำเร็จดีที่สุด

...

ดังนั้น สมัยนี้แม้ว่า “ท่านทักษิณไม่ได้เป็นนายกฯ” แต่ก็มีบารมีเหนือพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลในการบริหารประเทศอยู่นี้ “แล้วยิ่งกว่านั้นรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยดูแลควบคุมเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดด้วย” เช่นนี้ท่านทักษิณมิได้ทำด้วยตัวเองแต่มีผู้ทำแทนก็ควรจัดการให้เหมือนสมัยเป็นนายกฯ ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น “พรรคเสรีรวมไทย” ก็มีนโยบายการปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป เหตุนี้คงไม่สามารถเห็นด้วยกับ “กฎกระทรวงการครอบครองยาเสพติดในปริมาณไม่เกินกฎหมายกำหนดเป็นผู้เสพ” เพราะขัดแย้งกับนโยบายของพรรคที่ไม่ต้องการให้มียาเสพติดในประเทศชัดเจน

แล้วเรื่องสำคัญ “การแก้กฎหมาย” จำเป็นต้องศึกษาให้รัดกุมรอบคอบทุกมิติ เพื่อให้เกิดเป็นคุณต่อพี่น้องประชาชน มิเช่นนั้นอาจถูกกล่าวหาว่า “ทำเพื่อประโยชน์พวกพ้อง” ถ้าให้ดีก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ ควรเปิดประชาพิจารณ์ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านเสียก่อน

สุดท้ายนี้ ฝากไว้ว่า “การแก้ปัญหายาเสพติดให้ลดลง” ควรยกระดับมาตรการปราบปรามสกัดการนำเข้ายาเสพติดขั้นสูงสุด เพราะทุกคนทราบดีว่าฐานผลิตยาบ้าอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหน่วยงานรับผิดชอบแนวชายแดน “ล้วนมีข้อมูลเส้นทางจุดลำเลียงอย่างดี” ดังนั้นควรเน้นปิดกั้นทุกช่องทางไม่ให้หลุดรอดเข้ามาในประเทศได้

...

ด้วยการระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ “ทั้งทหาร ตำรวจ และหน่วยที่เกี่ยวข้อง” เสริมเข้าไปเต็มกำลังสร้างความเข้มแข็งเพิ่มความเข้มข้น “สกัดกั้นให้มีประสิทธิภาพ” ทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้ยาเสพติดถูกลักลอบลำเลียงเข้ามาในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องปรับปรุง หรือออกกฎหมายใหม่ด้วยซ้ำ

เพียงแต่ว่า “รัฐบาล” อาจต้องบริหารทรัพยากรบุคคล และหน่วยงานความมั่นคงที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนที่กำลังเผชิญสถานการณ์คับขันกับการระบาดยาเสพติดรุนแรงขณะนี้

ย้ำการแก้ปัญหายาเสพติด “ผู้นำต้องเด็ดขาด” สกัดกั้นทุกช่องทางชายแดน พร้อมเอกซเรย์ผู้ค้าทั่วประเทศควบคู่กับข้าราชการนอกรีตเข้าไปยุ่งเกี่ยวช่วยเหลือ และดึงอาสาชุมชนมาร่วมป้องกันปราบปราม หากทำเช่นนี้เชื่อว่า “ยาเสพติด” จะลดน้อยถอยลงในเร็ววันแน่นอน.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม