ผศ.ดร.สุรพงษ์ รัตนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะผู้ร่วมวิจัยเรื่อง “ระบบการเตือนภัยและคาดการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชน” (Early Warning and Predicting System for COVID-19 Outbreaks Using Wastewater-based Epidemiology) กล่าวว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อร่างกายรับเชื้อโควิด ทั้งในระยะที่ป่วยหรือระยะที่ยังไม่แสดงอาการจะพบเชื้อโควิดปนเปื้อนผ่านอุจจาระ ปัสสาวะ และสารคัดหลั่ง ซึ่งสุดท้ายเชื้อโควิดก็จะไปอยู่ในแหล่งน้ำเสียหรือระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชน ทีมวิจัยจึงนำวิธีตรวจวัดปริมาณการใช้สารเสพติดในชุมชนมาประยุกต์ใช้ โดยออกแบบการตรวจจำเพาะเข้าไปตรวจจับยีนของเชื้อโควิด-19 ซึ่งใช้เวลา 8 ชั่วโมงก็ทราบผล ทั้งสามารถประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงและไม่แสดงอาการได้ด้วย
ผศ.ดร.สุรพงษ์กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยจึงลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำเสียในชุมชนต่างๆจากระบบบำบัดน้ำเสียหลัก 19 แห่งของกรุงเทพมหานคร ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 มาตรวจวัดปริมาณเชื้อโควิด และวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์หาว่าพื้นที่ใดจะมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถช่วยทำนายการระบาดได้ล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์ หรืออาจล่วงหน้าได้ถึง 3 สัปดาห์ และทำการ mapping แสดง hot spots ของจำนวนผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่ภายใต้โรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครแต่ละแห่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติ และรางวัลผลงานวิจัย ปี 2567 ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชอีกด้วย.
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่