สารกำจัดศัตรูพืชมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อเพิ่มผลผลิตพืชผล โดยทั่วไปจะใช้วิธีฉีดพ่น ทว่ามีเพียง 50% เท่านั้นที่บรรลุเป้าหมาย ที่เหลือก็จะตกค้างลงที่ดิน น้ำบาดาล น้ำผิวดิน น้ำดิบ น้ำเสีย และผลิตภัณฑ์อาหาร การตรวจสอบระดับสารกำจัดศัตรูพืชในน้ำ ดิน และอาหาร จึงเป็น สิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสารพิษสู่ผิวหนัง ปอด หรือระบบย่อยอาหารในร่างกาย

ปกติแล้วเครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้บ่อยที่สุด ในการตรวจสอบระดับสารกำจัดศัตรูพืช ก็คือเทคนิคโครมาโตกราฟีที่เป็นวิธีแยกสาร จัดว่ามีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เช่น การเตรียมตัวอย่าง อุปกรณ์ราคาแพง ผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ใช้เวลานานในการวิเคราะห์ให้เสร็จสิ้น และพกพาไม่สะดวก ล่าสุด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล และมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐวิซอซา ในบราซิล เผยได้พัฒนาเซ็นเซอร์ที่ทำจากเซลลูโลสอาซีเตด (Cellulose Acetate) เป็นพลาสติก โพลีเมอร์ที่ถูกสังเคราะห์จากเยื่อไม้ ใช้วางบนพื้นผิวผักหรือผลไม้ได้โดยตรง เพื่อตรวจจับสารกำจัดศัตรูพืช

ทีมระบุว่า เซลลูโลสอาซีเตดย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ผลิตด้วยวิธีหล่อขึ้นรูปโดยวางวัสดุไว้ในพื้นที่ที่มีรูปร่างที่ต้องการ ระบบเคมีไฟฟ้าเคมีเต็มรูปแบบที่มีขั้วไฟฟ้า 3 ขั้วจะถูกพิมพ์ทับด้วยการพิมพ์สกรีนลงไป ทีมวิจัยได้ทดสอบในห้องปฏิบัติการ ฉีดพ่นสารละลายบนผักกาดหอมและมะเขือเทศ มีทั้งสารคาร์เบนดาซิม ที่ใช้ป้องกันและกำจัดเชื้อราในพืช สารป้องกันกำจัดโรคพืช และพาราควอต ที่เป็นสารกำจัดวัชพืช ซึ่งพาราควอตถูกห้ามโดยสหภาพยุโรปในปี 2546 เนื่องจากมีผลเสียต่อมนุษย์ จากนั้นจึงติดเซ็นเซอร์เข้ากับผักกาดหอมและมะเขือเทศโดยตรง ทีมพบว่าการตรวจวัดชี้ให้เห็นระดับการตรวจจับที่เข้ากันได้ดีกับตัวเซ็นเซอร์.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่