ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญภัยแล้งจากเอลนีโญ สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า จากการได้ลงพื้นที่ร่วมกับ ดร.กฤษฎา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าเยี่ยมชมการผลิตกล้ายางพาราปลอดโรคของจิ้นพันธุ์ยางและปุ๋ย ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา พบว่า เจ้าของจิ้นพันธุ์ยาง ได้นำยางพาราสายพันธุ์ RRIT 3904 และ RRIT 3802 จากงานวิจัยของศูนย์การยางฉะเชิงเทราที่ทำมาร่วม 20 ปี มาทำการศึกษาทดลองปลูกเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ปรากฏว่า ยางพาราทั้งสองสายพันธุ์ต้านทานโรคใบร่วงได้เป็นอย่างดี

...

“แต่การจะนำไปปลูกให้ทนต่อโรคใบร่วงได้ มีเคล็ดลับสำคัญอยู่ตรงการปักชำกล้ายางในถุงชำ จะต้องใช้ดินที่มีส่วนผสมของสารปรับปรุงดินที่ช่วยให้กล้ายางมีความแข็งแรง ตั้งแต่แรก ถ้าอนุบาลบำรุงให้ต้นกล้าแข็งแรง เมื่อกล้าเจริญเติบโตขึ้นมาจะสามารถทนต่อโรคได้หลายชนิด ไม่ใช่เพราะโรคใบร่วงอย่างเดียว เพราะทางเจ้าของจิ้นพันธุ์ยาง ได้ทำการทดลองมาแล้วหลายสูตร และนำไปปลูกเปรียบเทียบกับกล้ายางที่ชำแบบธรรมดาทั่วไป ปรากฏว่า กล้ายางที่อยู่ในถุงใส่ดินธรรมดาจะไม่สามารถทนต่อโรคใบร่วงได้ ส่วนยางในถุงที่ใส่ดินสูตรบำรุงกล้ายาง สามารถสู้กับโรคใบร่วงได้ และทางเจ้าของจิ้นพันธุ์ยางได้นำยางพาราทั้งสองพันธุ์ไปจดทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อย่างเป็นทางการแล้ว และได้จำหน่ายพันธุ์ไปให้เกษตรกรนำไปปลูกแล้วในหลายพื้นที่ จ.สงขลา มีการปลูกใน อ.สะเดา อ.คลองหอยโข่ง จำนวนหลายร้อยไร่ จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 400 ไร่ และ ที่ จ.ยะลา ประมาณ 300 ไร่ และ จ.กระบี่ ประมาณ 400 ไร่ โดยมีแปลงต้นแบบ 15 ไร่ ที่ อ.คลองหอยโข่ง ให้เข้าไปศึกษาดูงานได้”

ดร.สมบัติ ยังเผยอีกว่า ยางพาราทั้ง 2 พันธุ์ที่ถูกนำไปปลูก นอกจากจะทนต่อโรคใบร่วงแล้ว ในแปลงที่เริ่มกรีดน้ำยางได้ยังจะให้น้ำยางสดเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว ประมาณไร่ละ 475 กก./ปี ในขณะที่ยางพาราเดิมที่เกษตรกรปลูกกันจะให้น้ำยางสดแค่ไร่ละ 220 กก./ปีเท่านั้นเอง ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่เกษตรกรจะซื้อกล้ายางพันธุ์ใหม่ไปปลูกจะต้องดูใบรับรองพันธุ์ให้ดีด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนที่ จ.สุโขทัย และ จ.น่าน ที่ได้ยางพันธุ์ไม่ได้มาตรฐานจากภาคใต้ไปแล้ว ทำให้เกิดโรคใบร่วงระบาดตามมา.

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม