นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงการกินหมูกระทะของคนไทย จำนวน 26,689 คนทั่วประเทศ วันที่ 4-22 ธ.ค.2566 โดยกองสุขศึกษาพบว่ามีผู้นิยมกินหมูกระทะถึงร้อยละ 32.1 โดยมี 5 พฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดโรคจากเชื้อแบคทีเรีย หรือการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.การไม่แยกตะเกียบหรือแยกแค่บางครั้งระหว่างตะเกียบที่ใช้คีบหมูดิบกับหมูสุก ร้อยละ 44.7 สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ 2.กินหมูสามชั้นทุกครั้งหรือเกือบ ทุกครั้ง ร้อยละ 62.9 ซึ่งนำไปสู่ภาวะได้รับไขมันเกินจนเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมัน ในเลือดสูง ฯลฯ 3.ดื่มน้ำอัดลมร่วมกับการกินหมูกระทะทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้ง ร้อยละ 58.4 ซึ่งนำไปสู่ภาวะได้รับน้ำตาลเกินทำให้เกิดปัญหาโรคเบาหวาน 4.เน้นกินอาหารทะเล ร้อยละ 58.8 ซึ่งทำให้มีโอกาสได้รับคอเลสเทอรอลสูงหรือได้รับฟอร์มาลินที่ใช้สำหรับรักษาความสดของอาหารทะเลเข้าสู่ร่างกาย และ 5.เลือกที่จะกินให้อิ่มมากเกินปกติทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้ง ร้อยละ 42.1 ซึ่งทำให้ได้รับสารอาหารที่มากเกินไป
นพ.สามารถกล่าวว่า ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยงได้ด้วยการแยกอุปกรณ์ในการตักหรือคีบระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย และกินโดย “ลดหวาน มัน เค็ม” ดื่มน้ำสะอาดแทนน้ำหวาน กิน ผลไม้แทนขนมหวาน เลือกกินเนื้อปลา ไก่ หรือ หมูที่มีปริมาณไขมันน้อยๆ ลดซอสปรุงรสหรือน้ำจิ้ม เพื่อลดปริมาณโซเดียม และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ.
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่