กรณีกลุ่มเกษตรกรจังหวัดปัตตานีร้องเรียนว่า การจัดหาแม่โคในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่มมีลักษณะซูบผอม น้ำหนักไม่ตรงกับที่กำหนดในโครงการ

นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจง โครงการ “โคบาลชายแดนใต้” เป็นโครงการที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจ ฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กรอบวงเงิน 1,566.20 ล้านบาท การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง

สำหรับการจัดหาพันธุ์สัตว์ในโครงการ จะใช้เงินกู้ของเกษตรกรจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ได้ดำเนินการตามหลักการที่สำคัญคือ ให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาพันธุ์สัตว์เอง ตามคุณลักษณะเฉพาะที่กรมปศุสัตว์กำหนด ในเรื่องสายพันธุ์ อายุ น้ำหนักตัว สุขภาพสัตว์ การได้รับวัคซีน และการตรวจโรคที่สำคัญ พร้อมเงื่อนไขการรับประกันหากไม่ถูกต้องตามที่กำหนดผู้ขายจะต้องเปลี่ยนตัวสัตว์ใหม่ให้แก่เกษตรกร

ส่วนข้อร้องเรียนของเกษตรกร กรมปศุสัตว์ได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้น พบว่า ช่วงระยะเวลาที่ทยอยส่งมอบและตรวจรับแม่โคมาตั้งแต่ พ.ย.66–ม.ค.67 เป็นช่วงเวลาที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบสภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีน้ำท่วมขัง ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์บางส่วนของโครงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้แม่โคเครียด ได้รับอาหารไม่เพียงพอ และบางตัวป่วย

โดยกรมปศุสัตว์ได้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เร่งฟื้นฟูสุขภาพแม่โคเนื้อ ที่ได้รับผลกระทบตามหลักวิชาการ ให้วิตามิน และอาหารเสริมแก่แม่โคพื้นเมืองเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์โดยเร็ว

...

กรณีที่กลุ่มเกษตรกรมีความประสงค์ขอเปลี่ยนตัวสัตว์ตามเงื่อนไขข้อกำหนดของโครงการ กรมปศุสัตว์ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการหรือผู้ขายดำเนินการเปลี่ยนตัวสัตว์ให้ใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับกลุ่มเกษตรกรระยะนำร่องในจังหวัดอื่นจะได้ตรวจสอบ หากพบปัญหาลักษณะเดียวกัน จะช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพสัตว์โดยเร่งด่วนต่อไป.

สะ–เล–เต

คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม