โฆษก ศธ. ย้ำ บทลงโทษนักเรียนมี 4 สถานเท่านั้น กำชับครูปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงเคร่งครัด ห้ามใช้ความรุนแรงเด็ดขาด

วันที่ 30 มกราคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากข่าวที่ครูลงโทษเด็กด้วยวิธีใช้เข็มกลัดทิ่มริมฝีปากเด็ก ป.2 ยกห้องจนได้รับบาดเจ็บเลือดออกนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัย และมีการดำเนินคดีทางอาญาควบคู่กันไปด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้มีข้อห่วงใยในประเด็นนี้อย่างมาก ทั้งนี้ ศธ. มีกฎระเบียบการลงโทษนักเรียนอย่างชัดเจนอยู่แล้ว จากระเบียบและกฎกระทรวงศึกษาธิการ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา และการกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2548 และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 2562 โดยสาระสำคัญคือนักเรียนต้องไม่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น หนีเรียน เล่นการพนัน พกพาอาวุธ เสพสิ่งมึนเมาหรือยาเสพติด ลักทรัพย์ ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น พฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม ค้าประเวณี เที่ยวเตร่ มั่วสุมอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น ส่วนการลงโทษนักเรียนที่กระทําความผิด ทำได้ 4 สถานเท่านั้น คือ

1. ว่ากล่าวตักเตือน

2. ทําทัณฑ์บน

3. ตัดคะแนนความประพฤติ

4. ทํากิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

"ศธ.ขอยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยกับการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง ห้ามลงโทษด้วยความโกรธ หรือใช้วิธีแปลกไปจากระเบียบโดยเด็ดขาด ซึ่งการลงโทษต้องคำนึงถึงอายุและความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบด้วย ทั้งนี้การกำหนดให้มีบทลงโทษนั้น เป็นไปด้วยเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดี ให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อสหประชาชาติด้วย” โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

...

นอกจากกรณีที่เป็นข่าวนี้แล้ว อาจจะยังมีครูที่ลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่นอกเหนือจากระเบียบกระทรวงอยู่ จึงขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ศธ.ไม่ยอมรับการกระทำรุนแรงต่อกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายครูหรือนักเรียนก็ตาม ตลอดจนฝากผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครู เข้มงวดเรื่องการลงโทษนักเรียนให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงอย่างเคร่งครัดด้วย ทุกคนต้องช่วยกันสร้างสถานศึกษาให้เป็นที่ปลอดภัย บ่มเพาะเยาวชนทั้งด้านวิชาการและคุณธรรมจริยธรรม ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน และต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก.