นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคกระบือ เฝ้าระวังการเกิดการระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) เนื่องจากโรคดังกล่าวสามารถติดต่อได้ง่ายโดยผ่านแมลงพาหนะนำโรค ที่ประกอบกับประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแมลงดังกล่าว จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการพบการเกิดโรคลัมปี สกิน โดยเฉพาะในลูกสัตว์เกิดใหม่หรือสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินมาก่อน

“โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส พบเฉพาะในโคกระบือเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คน มีพาหะนำโรคติดต่อระหว่างสัตว์และสัตว์ ได้แก่ ยุง แมลงวันดูดเลือด เหลือบ และเห็บ อาการที่สำคัญคือ สัตว์ป่วยจะมีตุ่มหรือก้อนบวมแข็ง และอาจแตกเป็นแผลตกสะเก็ดตามผิวหนัง หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตนูน อาจมีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร บางครั้งพบก้อนเนื้อเป็นแผลในจมูก ปากและตา ทำให้โคกระบือมีน้ำมูกข้น มีน้ำลายและน้ำตาไหล โดยที่สัตว์ป่วยจะขับเชื้อทางสะเก็ดแผล น้ำมูก น้ำตา น้ำเชื้อและน้ำนม โคกระบือทุกช่วงอายุ ทุกสายพันธุ์มีความไวต่อโรคได้ แต่อาการจะรุนแรงในลูกสัตว์หรือสัตว์ที่อ่อนแอ”

...

สำหรับการรักษาสัตว์ป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน อธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกว่า เป็นการรักษาโรคตามอาการ ไม่มีวิธี การรักษาที่เฉพาะเจาะจง และอาจต้องคัดสัตว์ที่ป่วยทิ้ง เนื่องจากให้ผลผลิตไม่ดีในระยะยาว

แต่โรคนี้สามารถ ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน สามารถฉีดได้ทั้งวัคซีนชนิดเชื้อเป็นและวัคซีนชนิดเชื้อตาย กรณีวัคซีนเชื้อเป็นให้ฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง โดยให้ฉีดวัคซีนในลูกสัตว์ได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนวัคซีนเชื้อตายให้ฉีดปีละ 2 ครั้ง ให้ฉีดวัคซีนในลูกสัตว์ได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป ร่วมกับการควบคุมและกำจัดแมลงพาหะ เช่น กางมุ้ง ใช้ยาไล่แมลงราดตัวสัตว์ พ่นยาฆ่าแมลงบริเวณคอกหรือสถานที่เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น และให้แยกสัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่อย่างน้อย 14 วัน หากพบสัตว์ป่วยที่แสดงอาการป่วย ให้แยกสัตว์ออกจากฝูงเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคในฝูงสัตว์

หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 06-3225-6888.

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม