The Power of KU พลังชาวเกษตรศาสตร์

แนวคิดหลักในการรวมพลังทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ทั้งผู้บริหาร บุคลากร นิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า และภาคประชาชน ที่พร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกันในการพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วงปีที่ 82 และทศวรรษที่ 9 ทั้งต่อยอดถึงทศวรรษที่ 10 ให้ผลงานต่างๆที่วางไว้ประสบความสำเร็จเมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอายุครบ 100 ปี และจะเดินหน้าพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ขยายความถึงแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัย ในวาระวันแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครบรอบ 81 ปี วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความโดดเด่นระดับประเทศและระดับนานาชาติด้านการเกษตร อาหาร ประมง ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ซึ่งหลอมรวมเข้าไว้เป็น “ศาสตร์แห่งแผ่นดิน” และยังเป็นค่านิยมหลักที่มหาวิทยาลัยยึดมั่นต่อไป เป็นการบูรณาการศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการกินดีอยู่ดีของประชาชน เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยจะเสริมความแข็งแกร่งขึ้นไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งก็มีความเข้มแข็งเช่นกันทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อต่อยอดการกินดีอยู่ดีของประชาชนได้อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ จึงนำมาสู่ โครงการจัดตั้งอุทยานการแพทย์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และคณะที่เกี่ยวข้องอื่นๆ พร้อมกับจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณ ประจำปี 2567 จากรัฐบาล วงเงิน 8,863.93 ล้านบาท คาดว่าใช้เวลาพัฒนา 20 ปี เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 ผลงานด้านสุขภาพก็จะมีความโดดเด่นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าด้านเกษตร อาหาร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการบูรณาการ “ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการกินดีอยู่ดีและมีสุขอย่างยั่งยืน”

...

“ผมมองว่าในช่วงทศวรรษที่ 9 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นช่วงเวลาของการเพิ่มศักยภาพของคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะอื่นๆ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จะเปิดการเรียนการสอนอย่างครบวงจร เชื่อมโยงกับศาสตร์แห่งแผ่นดินทั้งด้านเกษตร อาหาร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม รวมเป็นสุขภาพหนึ่งเดียว พร้อมกันนี้ก็จะเชื่อมโยงกับความโดดเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์กับการแพทย์

เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมวิศวกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ เพื่อลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มุ่งพัฒนาด้านนวัตกรรมชีววิทยา ได้แก่ วัคซีนชนิดต่างๆ ซึ่งตอนนี้เราก็ทำอยู่แล้วคือการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนสำหรับป้องกันโรคในวัว ไก่ ปลา เป็นต้น สิ่งที่จะทำต่อไปคือการผลิตและพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ สิ่งต่างๆดังกล่าวต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ผมจึงมองว่าทศวรรษที่ 9 คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้เห็นผลในปีที่ 100 ของมหาวิทยาลัย” ดร.จงรัก ฉายภาพการดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย

“...ส่วนความเชี่ยวชาญเดิมที่มีอยู่ได้แก่ ด้านการเกษตรซึ่งเป็นหัวใจของประเทศ ก็จะต้องพัฒนาต่อเนื่อง สร้างองค์ความรู้และงานวิจัยยกระดับการเกษตรของประเทศ เป็นนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ ที่เกษตรกรทำน้อยแต่ได้ผลผลิตมาก และเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ มีรูปแบบการรวมกลุ่มใหม่ๆที่ทันสมัย โดยให้คณะเศรษฐศาสตร์เข้ามาดูแล และจัดตั้งร้านค้าผลิตภัณฑ์เกษตรระดับพรีเมียม สนับสนุนการจัดงานเกษตรแฟร์เพื่อเป็นพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายถึงมือประชาชน ซึ่งเป็นงานที่ได้รับความนิยมระดับต้นๆของประเทศมีประชาชนมาร่วมงานปีละมากกว่า 1 ล้านคน และยังนำร้านค้าต่างๆเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อขายได้ทั่วประเทศและทั่วโลก เป็นการเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาเยี่ยมและชื่นชมผลงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะอุตสาหกรรมบริการ เพื่อพัฒนาคนรองรับการ บริการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว

...

ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้ตั้งเป้าที่จะเป็นต้นแบบการสร้างความยั่งยืนของประเทศ ในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว การเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ด้วยการลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งก็ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนอาคารต่างๆ เพื่อให้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทดแทน และเพิ่มการปลูกป่า” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงหลากหลายงานที่จะสานต่อเพื่อตอบโจทย์สังคมไทยและการพัฒนาประเทศชาติ

...

ด้านการเตรียมคน เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายที่วางไว้นั้น ดร.จงรัก กล่าวว่า บุคลากรได้ประชุมและมีความคิดที่ตรงกัน โดยมหาวิทยาลัยได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์การสร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน 2.ยุทธศาสตร์ การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับสากล 3.ยุทธศาสตร์การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการดำเนินตามภารกิจบนหลักธรรมาภิบาล 4.ยุทธศาสตร์การบูรณาการศาสตร์สุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนและสังคม และ 5.ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลง

พร้อมกันนี้ก็ได้กำหนด New S-Curve จำนวน 9 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย 1.Future Food and Bio Product อาหารและผลิตภัณฑ์ชีวะแห่งอนาคต 2.EV and Energy พลังงาน และพลังงานไฟฟ้า 3.AI and Digital ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีดิจิทัล 4.New Platfrom for Learning แพลตฟอร์มการเรียนรู้รูปแบบใหม่และการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ 5.Health Science วิทยาศาสตร์สุขภาพ 6.SDGs Green Carbon Neutrality การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเป็นกลางทางคาร์บอน 7.Collaborative University มหาวิทยาลัยแห่งความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 8.Innovative and Creative Research นวัตกรรมและวิจัย 9.Smart Thai and Global Citizen คนไทยที่สมาร์ทและการเป็นพลเมืองโลก

“ทีมการศึกษา” มองว่าโครงการต่างๆที่วางรากฐานไว้จะสำเร็จได้ หากทุกคนในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ รวมถึงนิสิตเก่า ภาคประชาชน เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริงและยั่งยืน.

...


ทีมการศึกษา

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่