ย้อนหลังไปก่อนปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รวบรัดเอาช่วงเวลาสมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 อาจารย์สถิตย์ เสมานิล เขียนไว้ในหนังสือ วิสาสะ เล่ม 2 (ต้นอ้อแกรมมี่ พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2539) ว่า
“ข่าว” สมัยนั้น เป็นของหายาก ไม่มีช่องทางให้หยิบฉวยมาเขียนลงหนังสือพิมพ์ได้ง่าย ชนิดที่ใช้คำว่าต้อง “หา”
อย่าลืม ว่ายังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทรวง ทบวง กรม แม้ว่าจะมีขึ้นแล้ว ราชการยังเป็นระบบเจ้าขุนมูลนาย เรื่องแบบว่า มีที่ทางให้ชุมนุมคนหนังสือพิมพ์เพื่อแถลงข่าว หากจะมีสักปีละครั้ง ก็ยังยาก
เมื่อเป็นเช่นนี้ นักข่าวก็ต้องออกแรง เสาะแสวงข่าวเอง
นักข่าวสมัยนั้น แบ่งงานกันทำงานเป็นสามประเภท เรียกตามภาษาหนังสือพิมพ์ว่า นักข่าวกระทรวง นักข่าวโรงพัก และนักข่าวศาล
นักข่าวศาล ต้องแต่งตัวภาคภูมิหน่อย นุ่งผ้าม่วง ถึงจะใส่เกือกไม่สอดถุงตีน ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องไม่ใช่เกือกแตะ และวัยของนักข่าวศาล ก็ต้องพ้นวัยคะนอง
“ที่พูดมานี่ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรดอก แต่เห็นมาอย่างนั้น” อาจารย์สถิตย์ว่า
นักข่าวศาลจำเป็นต้องได้คนมีลักษณะเช่นนั้น เพราะการหาข่าวระดับพาดหัว กว่าจะได้ก็ต้องได้พบผู้ใหญ่
ข่าวพาดหัวที่อาจารย์สถิตย์บอก สมัยนั้นมีตัวโป้ง ตังปงเซียม ตัวแซ หรือตัวใหญ่ที่สุดเท่าที่จะได้
กลเม็ดที่จะได้ข่าวพาดหัว ต้องเกิดในสันดานสอนกันยาก นักข่าวพึงใช้สำนึกดูความเป็นไปของบ้านเมือง มีอะไรผิด หรือผิดปกติ เช่น ข้าวหรือทองคำแพงหรือถูกลง
ข่าวต่างประเทศ ก็ต้องสนใจ สมัยนั้นจีนกับญี่ปุ่นเป็นอริแก่กัน มีข่าวพ่อค้าจีนในเมืองเซี่ยงไฮ้ สนับสนุนการเป็นปฏิปักษ์กับญี่ปุ่นของรัฐบาล ด้วยการไม่ซื้อไม่ขายกับญี่ปุ่นหลายสมัย ในเมืองเซี่ยงไฮ้และหลายเมืองใหญ่ของจีน
...
ทำกันถึงขั้น ขนสินค้าญี่ปุ่นที่ยังมีติดร้านออกมาเผา ข่าวนี้มีประเด็นให้นักข่าวได้คิดว่า พ่อค้าจีนในกรุงเทพฯ จะทำประการใด
แหล่งข่าวนี้ ควรไปหาจาก “เซียงหวย” (สมาคมพาณิชย์จีน) หรืออาจเป็นพ่อค้าจีนอื่น
หรืออาจได้จากผู้ใหญ่ของกรมที่เกี่ยวข้อง แต่ลางทีนักข่าวมีไหวพริบสูง ก็อาจได้ข่าวพาดหัวจากเสมียนพิมพ์ดีด หรือเสมียนสารบัญ
นอกจากข่าวศาล ข่าวโรงพักก็เป็นข่าวเอก พาดหัวได้เหมือนกัน ข่าวโรงพักที่มหาชนโจษและอยากรู้ ข่าวหนึ่ง หลวงทวี (สร้อย...จำไม่ได้) นายอำเภอนครชัยศรี ถูกยิงตายขณะนอนเก้าอี้ผ้าใบบนเรือนพัก
ตำรวจสืบได้ว่า นายอากรฮะหยง คหบดีใหญ่ จ้างนายฮกกับนายมั่นไปฆ่า ตำรวจจับส่งฟ้องศาล ศาลตัดสินประหารชีวิตทั้งสามคน
แต่จำเลยที่หนึ่งนายอากรฮะหยง ได้รับพระราชทานกรุณาอภัยโทษ ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต
ต่อมาอีกปีเดียว นายอากรที่ลือกันว่ามั่งคั่งที่สุดของนครชัยศรี ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้พ้นจากการคุมขัง แพทย์ตรวจว่าป่วยหนัก หากไม่ได้ออกมารักษานอกเรือนจำจะไม่รอด
อาจารย์สถิตย์ เล่าว่า ข่าวนี้นักข่าวติดตามกันแบบไม่กะพริบตา เขียนกันละเอียดยิบ ฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลย สู้กันในศาลแบบไหน ยิ่งตอนศาลตัดสินแล้วจำเลยเข้าคุก ก็เป็นข่าวใหญ่
แต่ตอนนายอากรจำเลยสำคัญ รอดจากโทษประหาร ลดเรื่อยมา จนเหลือติดคุกปีเดียว แล้วถูกปล่อยตัวออกมารักษานอกคุก ก็เป็นข่าวใหญ่มีชาวบ้านติดตามอ่านข่าวมากกว่า
อ่านข่าวที่นักข่าวยุค ร.6 ร.7 หา...แล้วคงจะรู้กันว่า ข่าวทำนองนี้ เกิดมีขึ้นแล้วในสมัยนั้น จึงไม่ควรแปลกใจให้มากเกินไป หากจะได้อ่านข่าวทำนองเดียวกันอีกในสมัยนี้.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม