ข้อมูลล่าสุดเสมือนคำเตือนดังๆ จาก Dr. Maria Van Kerkhove ซึ่งเป็น WHO COVID–19 technical lead ระบุ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ที่ผ่านมา “จำนวนผู้ป่วย”...รักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 42% และ “จำนวนผู้ป่วยหนัก”...ในไอซียูเพิ่มถึง 62%

นอกจากนี้ “จำนวนคนเสียชีวิต” ทั่วโลกที่รายงานไปยัง WHO นั้นทะลุเกิน 7 ล้านคนไปแล้ว โดยองค์การอนามัยโลกประเมินว่าจำนวนเสียชีวิตจริงทั่วโลกนั้นมากกว่าที่รายงานอย่างน้อย 3 เท่า

ปัจจุบันโควิดสายพันธุ์ “JN.1” ครองการระบาดหลัก โดยตรวจพบมากกว่า 50%

แน่นอนว่า “WHO” เน้นย้ำความสำคัญของมาตรการควบคุมป้องกันโรคภายในประเทศ การตรวจสายพันธุ์ รวมถึงพฤติกรรมป้องกันตัวของประชาชน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ใส่หน้ากาก การตรวจโรค วัคซีน และการเข้าถึงยารักษามาตรฐาน

ดังนั้น...ไม่ควรเชื่อข่าวลวงที่พยายาม “minimize harm”...ลดอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด

“โควิด–19 นั้นทำให้ป่วยได้ ตายได้ ไม่ใช่หวัดธรรมดาครับ”

...

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับไวรัสร้าย “โควิด–19” ที่ยังไม่จบง่ายๆอีกว่า ตัวเลขราว 10% คือความเสี่ยง “ลองโควิด” จากการติดเชื้อ...การได้รับวัคซีนมาก่อนตั้งแต่ 2 เข็มขึ้นไป และการได้รับยาต้านไวรัสมาตรฐานในการรักษา

...จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้ราวครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การติดแต่ละครั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน ในสัดส่วน 30-60% เมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้ ไตร่ตรอง และตัดสินใจเลือกทางปฏิบัติของเราเอง หากใส่ใจสุขภาพ ความเสี่ยงย่อมน้อยกว่า...ทั้งนี้ หากติดเชื้อก็รีบตรวจรักษาและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อตัวคุณและคนใกล้ชิด

“ติดซ้ำๆ ไม่ควรโชว์ proud...(ภูมิใจ) นะครับ...เห็นหลายคนอวดเพื่อนฝูงกันว่า ฉันติดครั้ง 2, 3, 4, 5 ไม่เห็นเป็นอะไรเลย แป๊บเดียวก็หาย...ขอเตือนด้วยข้อมูลทางวิชาการว่า การติดโควิดแต่ละครั้งนั้นล้วนมีความเสี่ยงตามมาเสมอ ทั้งการป่วย เสียชีวิต รวมถึงลองโควิดอีกด้วย”

แม้โอกาสไม่มาก แต่หากเกิดปัญหาขึ้นมา อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆในระยะยาว

“ลองโควิด” นั้นเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติในระบบต่างๆของร่างกายได้แทบทุกระบบ ตั้งแต่...สมอง ระบบประสาท ระบบหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด ทางเดินอาหาร

รวมถึงการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรังอย่าง “เบาหวาน” อีกด้วย

ซึ่งกลไกการทำให้เกิดปัญหานี้มีหลายกลไก เช่น การติดเชื้อคงค้างระยะยาว การคงค้างของชิ้นส่วนไวรัสในร่างกาย การเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังต่อเนื่อง การกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง ฯลฯ

ดังนั้น จึงควรมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

พลิกแฟ้มข้อมูลโควิดสายพันธุ์ “JN.1 (BA.2.86.1.1)” ที่ติดกันมาก แพร่ง่าย เพราะดื้อต่อภูมิคุ้มกัน น่าสนใจด้วยว่างานวิจัยมากมายชี้ให้เห็นว่ามีสมรรถนะจับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ได้แน่นกว่าตัวพ่อแม่อย่าง BA.2.86 ติด...แล้วป่วยได้ รุนแรงได้ ลงปอดได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อลองโควิดด้วย

อย่าเชื่อข่าวลวง...โควิด–19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่หวัดใหญ่ และยังไม่ใช่โรคระบาดตามฤดูกาลดูตัวเลขที่ป่วย ตาย และภาวะเรื้อรัง ที่ทั่วโลกฉายให้เห็น หรือมองรอบตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คนที่มีสติและปัญญาย่อมประจักษ์ชัดด้วยตนเอง

ย้ำอีกครั้งว่า ขอให้จดจำบทเรียนที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและเพราะเหตุใด เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอครับ อย่าให้เราตกไปสู่ภาวะที่ “ไม่น่าเลย...รู้งี้...” เลยครับ

...เพราะไม่มีทางที่จะนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้

เสริมด้วยข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดของประเทศญี่ปุ่น เพิ่งเผยแพร่ใน The Lancet Infectious Diseases (3 มกราคม 2024)แสดงให้เห็นว่า “JN.1” นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆหลายเท่า...เราจึงไม่แปลกใจที่คนติดกันตรึม ตอนนี้ไม่ว่าจะติดครั้งแรกหรือคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนก็ติดซ้ำได้ง่ายหากไม่ป้องกันตัว

...

อย่างที่เกริ่นไปแล้วในตอนต้น...“JN.1” แพร่ระบาดในขณะนี้ครองสัดส่วนหลักทั่วโลก ตรวจพบแล้วอย่างน้อยใน 51 ประเทศ ตลอดการระบาดของโควิด-19 จนถึงปี 2024 ซึ่งนับเป็นปีที่ 5 แล้วนั้น จะพบว่าเราเจอลักษณะของไวรัสที่มีการกลายพันธุ์มากภายในครั้งเดียว (hypermutated virus) ไม่บ่อยนัก

ครั้งสุดท้ายที่พบคือ การเกิดขึ้นของ “โอมิครอน” ซึ่งมีการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่าง “เดลต้า”...ที่จริงแล้ว JN.1 หรือ BA.2.86.1.1 (รวมถึงรุ่นพ่อแม่คือ BA.2.86) มีการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่งเช่นกัน เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดก่อนหน้าอย่าง XBB.1.5

ด้วยลักษณะการกลายพันธุ์ของ JN.1 เช่นนี้ เราจึงไม่แปลกใจที่ระลอกที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ จึงมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันจำนวนมากมายและรวดเร็ว

สอดคล้องกับข้อมูลการระบาดในอเมริกา ข้อมูลจาก US CDC ชี้ให้เห็นว่า JN.1 (BA.2.86.1.1) เป็นสายพันธุ์ที่ครองการระบาดหลักในประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกภูมิภาคปัจจุบันมีสัดส่วนตรวจพบสูงถึง 61.6%

...

ปรากฏการณ์ลักษณะนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบปีกว่าๆที่ผ่านมา ที่มีสายพันธุ์หลักครองการระบาด บ่งชี้ถึงสมรรถนะของ JN.1 ที่แพร่ระบาดได้เร็ว เนื่องจากดื้อต่อภูมิคุ้มกันอย่างมาก และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชากรในสังคมที่ไม่ได้ระแวดระวังป้องกันตัวอย่างดีพอ

“มนุษย์” เรานั้นมีคุณสมบัติที่ดีคือ การปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยคุกคาม เพื่อให้มีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต และให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ดังนั้นการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาดนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ได้ใส่ใจอย่างเพียงพอก็จะเสี่ยงที่จะติดเชื้อ แพร่เชื้อ ป่วย เสียชีวิต

การศึกษาจากสวีเดนและนอร์เวย์ (medRxiv) ชี้ให้เห็นว่า การทำงาน การเดินทาง การจับจ่ายซื้อของ และการท่องเที่ยวหย่อนใจเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่สัมพันธ์กับการแพร่เชื้อติดเชื้อโรคโควิด-19 ถึง 40-60% ของจำนวนการติดเชื้อทั้งหมด...4 กิจกรรมดังกล่าวจึงควรให้ความใส่ใจ ระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับไทยเรา รอบตัวตอนนี้จะเห็นได้ว่า “ติดเชื้อ” และ “ป่วย” กันมากมาย

...

เน้นย้ำเรื่องการมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ หากไม่สบายควรหยุดไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ไม่งั้นคนรอบข้างจะติดเชื้อกันได้มาก

“ป่วยมีอาการ ตรวจวันแรกๆได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ ให้ตรวจซ้ำจนถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีอาการป่วย เพราะไวรัสจะพีกช่วงนั้นครับ...การใส่หน้ากากป้องกันตัวจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก”

อาการไอเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุด...และเตือนให้เราพยายามรักษาระยะห่าง ป้องกันตัว ใส่หน้ากาก ลดระยะเวลาคลุกคลีใกล้ชิด แม้ “ฝุ่น” เยอะจะส่งผลให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ ไอ ระคายคอ มีน้ำมูกได้ แต่อย่าเพิ่งปักใจว่าเป็นเหตุจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ...“โควิด–19”.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม