มาคุยกันต่อถึงเรื่องราวน่าอัศจรรย์และสิ่งสำคัญในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร หรือแต่เดิมคือวัดสลักกันนะครับ ภายในวัดมีสิ่งของและสถานที่ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อว่าหลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน

เริ่มจาก “เจดีย์ขาว” หรือเจดีย์วัดสลัก เป็นจุดแสดงที่ตั้งของพระอุโบสถวัดสลัก เมื่อครั้ง “ท่านบุญมา” ซึ่งต่อมาคือ “สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” พระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เคยตั้งจิตอธิษฐานยามได้เห็นช่อฟ้า ใบระกา หลังคาอุโบสถ ขอให้รอดพ้นจากข้าศึก และได้กลับมาบูรณะวัดแห่งนี้ภายหลังกอบกู้เอกราชสำเร็จ

เจดีย์ขาว
เจดีย์ขาว

พระองค์ท่านได้รับการกล่าวขานยกย่องเป็น “วังหน้าพระยาเสือ” ด้วยทรงเป็นแม่ทัพผู้ปรีชาสามารถทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธี จึงมีผู้คนจำนวนมากตั้งใจมากราบไหว้ขอพร ให้ได้เลื่อนยศตำแหน่ง

...

“พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท” ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด ด้านหน้าพระวิหารโพธิลังกา มีขนาดเท่าครึ่งอยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเป็นท่าจบเป็นพุทธบูชา ภายในบรรจุเนื้อดินที่เก็บจากแผ่นดินที่เคยเสด็จกรีธาทัพรวม 28 แห่งไว้ใต้ฐาน

พระบวรราชานุสารีย์ฯ
พระบวรราชานุสารีย์ฯ

คุณฐนิวรรณ กุลมงคล กรรมการอำนวยการจัดงานสมโภชพระอารามหลวงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ครบ 338 ปีฯ เล่าให้ฟังว่า การ เตรียมการจัดงานครั้งนี้มีสิ่งน่าอัศจรรย์หลายอย่างเกิดขึ้น  เรื่องที่ผู้คนกล่าวขวัญกันมากคือ “พระแสงราวเทียน”  เพราะมีเรื่องเล่าว่าในบั้นปลายสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ถวาย “พระแสงดาบ” อันเป็นศาสตราวุธ คู่พระทัยในการออกรบ เพื่อเป็น “ราวเทียน”  สำหรับจุดบูชาพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปองค์ประธานในพระอุโบสถ ต่อมาพระแสงราวเทียนได้หายสาบสูญไปนานแล้ว มีเพียงเรื่องเล่าต่อกันมา จนกระทั่งก่อนหน้าการจัดงานเพียงไม่กี่วัน ผู้ครอบครองพระแสงราวเทียนได้แสดงความจำนงที่จะถวายคืนให้แก่วัดมหาธาตุฯ ทำให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้มีโอกาสประจักษ์ด้วยตาตนเอง

พระแสงราวเทียน
พระแสงราวเทียน

ส่วน พระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระอุโบสถใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ บริเวณหน้าบันแกะสลักไม้ปิดทองประดับกระจก ใบเสมาสลักภาพนารายณ์ทรงสุบรรณอยู่ด้านใน ส่วนด้านนอก 4 มุมสลักเป็นครุฑยุดนาค พระประธานด้านในคือ พระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระอรหันต์ 8 องค์ ล้อมรอบ 8 ทิศ

ขณะที่ภายในพระวิหารมี “หลวงพ่อหิน” พระพุทธรูปหินศิลาแดงเดิมเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสลัก มีความเก่าแก่ย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตามที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่ฐานพระพุทธรูป ช่วงระหว่างจัดงานมีการนำ พระผงพิมพ์สมเด็จ ที่จัดสร้างจากมวลสารหลักคือ ผงคัมภีร์ใบลาน เรียกว่า “หลวงพ่อหินเนื้อคัมภีร์ใบลาน” มาแจกให้ผู้ร่วมงาน เพื่อให้พุทธานุภาพของหลวงพ่อหิน และธรรมานุภาพที่จารึกในคัมภีร์ใบลาน เป็นพุทธคุณคุ้มครองผู้มีศรัทธา โดยมีข้อความแจ้งไว้ว่า “ผู้มีศรัทธาปรารถนาบูชาไว้เป็นที่สักการะ ให้ตั้งจิตอธิษฐานขอต่อหน้าหลวงพ่อหิน รับไปบูชาได้ท่านละ 1 องค์ ไม่ต้องรับไปให้ผู้อื่น”  ซึ่งตอนนี้แจกจ่ายไปหมดแล้ว

...

หลวงพ่อหิน
หลวงพ่อหิน

จุดสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ พระมณฑปพระธาตุ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระลักษณ์ทรงหนุมานยืนแท่น อันเป็นตราพระราชลัญจกรของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และ “พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ” หรือพระเจดีย์ทองในพระมณฑป ส่วนบนของพระเจดีย์บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ส่วนใต้ฐานบรรจุ พระบรมอัฐิของพระปฐมบรมมหาชนก ต้นราชวงศ์จักรี

...

พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ
พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ

นอกจากนี้ ยังมี ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เก่าแก่กว่า 200 ปี ซึ่งรัชกาลที่ 2 ได้ส่งคณะพระสงฆ์สมณทูตไทยไปยังลังกาทวีป นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์จาก เมืองอนุราธปุรี ประเทศศรีลังกา  มาปลูกเมื่อ พ.ศ.2361 นับเป็นครั้งแรกที่นำต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกาเข้ามาปลูกในกรุงรัตนโกสินทร์

เรื่องราวอัศจรรย์และสิ่งสำคัญที่วัดมหาธาตุฯได้รับการกล่าวขวัญอย่างแพร่หลาย ผมอยากชวนท่านผู้อ่านหาเวลาสักวันไปสักการะขอพร เสริมสิริมงคล เพิ่มขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม

...