เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ ร่วมมือกับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ศึกษาผลกระทบของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ความร่วมมือนี้ไม่ได้เป็นการต่อต้านวัคซีนใดๆทั้งสิ้น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะชนิด mRNA เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นขณะนี้ พบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เริ่มพบกลุ่มอาการต่างๆที่รักษายาก ทั้งที่ไม่ได้มีโรคประจำตัว เช่น เหนื่อย นอนไม่หลับ ใจเต้นเร็ว มีผื่น ผมร่วง เกิดตุ่มตามผิวหนัง เป็นต้น โดยอาการที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ลองวัคซีน ตนอยากให้กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลในการใช้วัคซีนชนิด mRNA ดูว่าเกิดผลกระทบอย่างไรในคนไทย ก่อนที่จะมีการแนะนำให้ฉีดในทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคติดตามผลกระทบจากลองโควิดและวัคซีนอยู่ ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนนั้น ไทยยังทำตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ให้ กลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดเข็มกระตุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่