เป็นความประทับใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไปเที่ยว “งานสมโภชพระอารามหลวงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2566-2 ม.ค.2567 จนนำมาเล่าขานกันไม่ขาดปาก ได้มาเห็นความงดงามของวัดคู่วัง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ล้ำค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รำลึกถึงคุณูปการคุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ได้สร้างวัดมหาธาตุให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนของอนุชนรุ่นหลัง

งานนี้ถือว่าเป็นการจัดงานใหญ่ครั้งแรกในห้วงปัจจุบันของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งไม่เพียงจัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ เสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้มีโอกาสไปร่วมงาน ทั้งยังทำให้ผู้คนได้รับทราบเรื่องราวความสำคัญของพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์มากยิ่งขึ้นด้วย

หลายคนคงคุ้นชินชื่อ “วัดมหาธาตุฯ” กันดีอยู่แล้ว เพราะสมัยก่อนย่านท่าพระจันทร์และท่าช้างซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันคึกคักมาก คนส่วนใหญ่รู้จักวัดมหาธาตุฯ ว่าเป็น วิทยาลัยสงฆ์ ขณะเดียวกันละแวกนั้นก็ขึ้นชื่อเป็น ตลาดแลกเปลี่ยนพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ แต่ที่หลายคนยังไม่รู้คือ วัดมหาธาตุฯมีความสำคัญอย่างมาก ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พระบวรราชานุสารีย์ฯ
พระบวรราชานุสารีย์ฯ

...

คุณฐนิวรรณ กุลมงคล กรรมการอำนวยการจัดงานสมโภชพระอารามหลวงวัดมหาธาตุฯ เล่าให้ฟังว่า วัดมหาธาตุฯ เดิมชื่อ “วัดสลัก” สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีหลักฐานเป็น ศิลาจารึก ที่ใต้ฐาน “พระพุทธรูปหิน” พระประธานในอุโบสถของวัดสลัก อักษรที่จารึกนั้นตรงกับ อักษรในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2228 นับจนถึงปัจจุบันวัดนี้จึงมีอายุ 338 ปี

เล่ากันว่าเมื่อครั้งที่ “ท่านบุญมา” ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังเป็นทหารกล้าแห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะออกทำศึกกับพม่า เดินผ่านทางมาแล้วเห็นช่อฟ้าใบระกา หลังคาพระอุโบสถของวัดสลัก จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าหากรอดตายในครั้งนี้จะแทนคุณด้วยการบูรณะวัดสลัก

เจดีย์ขาว
เจดีย์ขาว

หลังจากคว่ำเรือหลบทหารพม่าอยู่ทั้งคืนจนกระทั่งปลอดภัย สามารถพายเรือต่อไปจนถึงเมืองราชบุรี และได้ชักชวนพี่ชายคือ “ท่านทองด้วง” หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีในขณะนั้น ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ให้ไปร่วมรบกับกองทัพพระยาตาก จนสามารถ กู้เอกราชสำเร็จ ในที่สุด และ “เจดีย์สีขาว” ภายในบริเวณวัดในปัจจุบันจึงเป็นหมุดหมายที่ตั้งของ พระอุโบสถวัดสลัก

ข้อมูลเกี่ยวกับการสังคายนาพระไตรปิฎก
ข้อมูลเกี่ยวกับการสังคายนาพระไตรปิฎก

ต่อมาท่านได้สถาปนาวัดแห่งนี้เป็น พระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และมีการเปลี่ยนชื่อวัดตามลำดับ ตั้งแต่วัดสลัก เป็นวัดนิพพานาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ ปัจจุบันใช้ชื่อวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎก รวมทั้งยังก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยแห่งแรกขึ้น จากมหาธาตุวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และยังเป็น ที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ภายในวัดมหาธาตุฯมีจุดสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย พรุ่งนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อ โดยเฉพาะ “พระแสงราวเทียน” ที่มีประวัติอันน่าอัศจรรย์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากที่หลั่งไหลไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดมหาธาตุฯ เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงปีใหม่ ล้วนประทับใจไปตามๆกัน.

...

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม