แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่โลกก็ยังต้องประสบภัยพิบัติต่อไป ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติเช่น ฝนแล้งและน้ำท่วม และภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่นภัยฝุ่นจิ๋ว PM2.5
ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ถึง 53 จังหวัด จากทั้งหมด 77 จังหวัด ภาพที่กระทบต่อสุขภาพระดับสีแดง 5 จังหวัด
5 จังหวัดที่มีฝุ่นพิษขนาดจิ๋วระดับสีแดง ได้แก่ อ่างทอง ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี และสิงห์บุรี จังหวัดที่รองลงไป เช่น ลพบุรี สมุทรสาคร สระบุรี นครสวรรค์ อยุธยา อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม เป็นต้น รวมทั้ง กทม. ที่อยู่ในระดับอันตรายสูง ที่เขตดอนเมือง หลักสี่ และบางเขน
เมื่อพูดถึงฝุ่นพิษซึ่งเป็นภัยประจำปี สิ่งแรกที่คนไทยนึกถึงคือภาคเหนือ ที่มีการเผาป่า เผาไร่ข้าวโพด และอื่นๆมากสุด ทำให้นครเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของไทยและของโลก กลายเป็นพื้นที่ที่อากาศย่ำแย่ที่สุดในโลกในบางปี ส่วน กทม.ก็คงต้องฉีดน้ำตามถนนต่างๆ เหมือนเดิม
การเผาป่าเผาไร่เพื่อทำการเกษตร เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีใครใส่ใจปฏิบัติ แม้แต่อาเซียนก็มีสัญญาหรือความตกลงร่วมกัน เพื่อควบคุมการเผาป่า แต่ไม่มีผลบังคับใช้จริงจัง ระหว่างไทย ลาว พม่า และกัมพูชา เพื่อป้องกันการเผาไร่เผาป่า ทั้งๆที่ 4 ประเทศมีดินแดนติดกัน และมีสัญญาร่วมกัน
แต่สัญญาห้ามเผาสวนปาล์มน้ำมันกลับใช้ได้ผล ระหว่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพราะสิงคโปร์ทำการรณรงค์ห้ามผู้บริโภคใช้น้ำมันปาล์ม จากสวนที่ใช้วิธีเผาไร่และเผาป่า ประเทศ ไทยน่าจะจับมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย
แต่สัญญาจะกลายเป็นแค่ “ตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ” หรือไม่ แม้แต่ภายในประเทศก็ยังมีการโต้เถียง สส.พรรคก้าวไกลโวยว่า สภารับร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดไว้ดำเนินการ 4 ฉบับ ได้แก่ฉบับของ ครม. ฉบับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ แต่ทำไมจึงไม่รับร่างพรรคก้าวไกลด้วย
...
ทั้งๆที่เป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาตรงกัน และมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือขอลมหายใจที่สะอาดให้คนไทยทั้งประเทศ กว่า 66 ล้านคน ให้ได้สูดได้เต็มปอด เรื่องนี้เป็นปัญหาการเมืองหรือไม่ เนื่องจากพรรคก้าวไกลกลายเป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทย จึงต้องใช้ทุกยุทธวิธี รวมทั้งเตะตัดขาคู่ต่อสู้.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม